ทัวร์อินเดียใต้ Ep.3 สถาปัตยกรรมราชวงศ์ปัลลวะ โดย อาจารย์ปติสร เพ็ญสุต
สถาปัตยกรรมราชวงศ์ปัลลวะ
ศิลปกรรมของราชวงศ์ปัลลวะถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของศิลปะอินเดียใต้ โดยเฉพาะทางด้านสถาปัตยกรรม ซึ่งจะส่งอิทธิพลให้กับศิลปะของราชวงศ์อื่น ๆ ในระยะเวลาต่อมา โดยในระยะแรกจะมีความเรียบง่ายและไม่มีขนาดใหญ่นัก
1.สถาปัตยกรรมราชวงศ์ปัลลวะยุคต้น
สถาปัตยกรรมของราชวงศ์ปัลลวะยุคต้นที่ค่อนข้างโดดเด่นอยู่ในช่วงของพระเจ้ามเหนทรวรมันที่ 1 และพระเจ้านรสิงหวรมันที่ 1 (มหามัลละ) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 ซึ่งในระยะเวลานี้มีการฟื้นฟูศาสนาฮินดูขึ้นมาใหม่ ทำให้เกิดการสร้างศาสนสถานจำนวนมาก นักโบราณคดีเชื่อว่า แต่เดิมคงมีการสร้างวัดที่เป็นเครื่องไม้มุงหลังคาด้วยหญ้าหรือกระเบื้อง แต่เนื่องจากวัสดุจากธรรมชาตินั้นไม่คงทน จึงย่อยสลายไปตามกาลเวลา คงเหลือแต่อาคารที่สลักจากหินเท่านั้น
เอกลักษณ์ของสิ่งก่อสร้างในช่วงเวลานี้เป็นศาสนสถานที่แกะสลักสกัดเข้าไปในถ้ำ หรือตามหน้าผา มีการสร้างเทวาลัยภายในถ้ำหรือเพิงผา เช่น ถ้ำ หรือมิฉะนั้น ก็มักจะเป็นเทวาลัยขนาดเล็กที่แกะสลักจากหินก้อนใหญ่ก้อนเดียว สกัดให้เป็นอาคารทรงปราสาทขนาดเล็ก ซึ่งแสดงรูปแบบเฉพาะของศิลปะอินเดียใต้ ที่เรียกกันว่า ปราสาทรง “วิมาน” หรืออาคารที่มีการซ้อนชั้นโดยไม่มีหลังคาลาด อาคารเหล่านี้เป็นต้นเค้าให้กับเทวาลัยในศิลปะอินเดียใต้โดยทั่วไป และมีความแตกต่างไปจากอาคารทรงปราสาทในศิลปะอินเดียภาคเหนือ ซึ่งเป็นปราสาทแบบ “ศิขระ” ซึ่งเน้นการตกแต่งด้วย “หลังคาลาด” กลุ่มศาสนสถานลักษณะนี้ถือว่าเป็นแม่แบบให้กับปราสาทต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในไทย ชวา และเขมร ส่วนอาคาร “ศิขระ” แบบอินเดียเหนือนั้น แทบไม่มีตัวอย่างที่ส่งอิทธิพลให้กับปราสารทในดินแดนอุษาคเนย์เลย พบจำนวนน้อยมาก ๆ ในเขมรและชวา
1.1 ศาสนสถานที่สลักเข้าไปในเพิงผา
ศาสนสถานรูปแบบนี้คล้ายคลึงกับกลุ่มศาสนสถานในถ้ำที่เคยปรากฏมาก่อนแล้ว เช่นที่ถ้ำอชันต้า และเอโลรา ในรัฐมหาราษฏร์ แต่ถ้ำของราชวงศ์ปัลลวะมีขนาดที่เล็กกว่า โดยมีการแกะสลักถ้ำธรรมชาติขยายขนาดให้กว้างขวาง โดยไม่ต้องใช้ไม้ โลหะ หรือปูน เป็นส่วนประกอบ มีพื้นที่ใช้สอยพอเพียงสำหรับเป็น “ห้องครรภ์” หรือครรภคฤหะ อันเป็นส่วนประธานของเทวาลัยที่ใช้ประดิษฐานศิวลึงค์หรือเทวรูปต่าง ๆ บริเวณนี้เป็นส่วนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มักไม่อนุญาตให้สาธารณชนเข้า สงวนไว้สำหรับนักบวชเท่านั้น ส่วนด้านหน้าของถ้ำนั้นสลักเป็นเสาของมุขหน้าที่เรียกว่า “มณฑป” ที่ใช้สำหรับพวกพราหมณ์มาประกอบพิธีกรรม ชาวบ้านก็สามารถเข้ามาร่วมพิธีบริเวณนี้ได้ ซึ่งเป็นรูปแบบง่าย ๆ ของศาสนสถานฮินดู ที่มักมีผังรูปแบบ “ครรภคฤหะมณฑป”
ทัวร์อินเดียใต้
วัดถ้ำอุจฉิพิลลิยาร์ Ucchi Pillayar มีเสามณฑปขนาดเล็กอยู่ด้านหน้าห้องครรภ์
(ที่มา : https://www.digitaltrichy.com/uchi-pillayar/)
1.2 ศาสนสถานแบบเทวาลัยทั่วไป
ศาสนสถานแบบนี้พัฒนามาจากอาคารเครื่องไม้มุงหญ้าหรือกระเบื้อง ผสมผสานกับเทคนิคการแกะสลักหินที่เคยใช้มาก่อนในวัดถ้ำ ทำให้เกิดเทวาลัยจำนวนหนึ่งที่แกะสลักจากหินก้อนใหญ่ก้อนเดียว แต่กระนั้นก็ยังแสดงให้เห็นโครงสร้างแบบเครื่องไม้และหลังคามุงหญ้า ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องสลักก็ได้ เพราะตัวก้อนหินสามารถรับน้ำหนักของอาคารทั้งหมดได้อยู่แล้ว ศาสนสถานเหล่านี้มีตัวอย่างที่โด่งดังได้แก่ เทวาลัยปัญจรถะที่เมืองมามัลลปุรัม (มหาพลีปุรัม) ปัญจรถแปลว่า รถห้าคัน อันเป็นชื่อที่ชาวบ้านในแถบนั้นเรียกในภายหลัง โดยตั้งชื่อกลุ่มเทวาลัยหน้าหลังตามตัวละครสำคัญในมหาภารตยุทธ์ คือ พี่น้องทั้งห้าของตระกูลปาณฑพ ได้แก่ ยุทธิษฐิร อรชุน ภีมะ นกุล สหเทพ (เป็นฝาแฝด) และนางเทราปตี ภรรยาของพี่น้องทั้งห้า
ทัวร์อินเดียใต้
ภาพปัญจรถะ ที่มามัลลปุรัม
กลุ่มศาสนสถานปัญจรถะเหล่านี้ เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า อาคารแกะจากหินนั้น เลียนแบบมาจากอาคารเครื่องไม้มุงหญ้า เช่น เทราปตีรถะ ซึ่งแสดงรูปแบบหลังคาทรงลอมฟางง่ายอย่างง่าย ๆ ทรง “บังกลา” หรือกระท่อมในภาษาเบงกอล ถือเป็นพัฒนาการในยุคต้นของเทวาลัยฮินดู เทวาลัยหลังนี้มีขนาดเล็กที่สุด จึงถูกเรียกตามชื่อนางเทราปตี ซึ่งเป็นภรรยาของพี่น้องปาณฑพ
ทัวร์อินเดียใต้
ภาพเทราปตีรถะ ภายในบูชาพระแม่ทุรคา ประติมากรรมสตรีที่อยู่ด้านนอกคือทวารบาลซึ่งเป็นผู้หญิงตามเพศของเทพเจ้าเจ้าของปราสาท เหนือประตูประดับด้วยรูปมกรคายวงโค้ง เรียกว่า “ซุ้มมกรโตรณะ” เป็นเอกลักษณ์ของซุ้มประตูแบบอินเดียใต้ที่ส่งอิทธิพลให้ทับหลังแบบถาลาบริวัตรในศิลปะเขมร
(ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Draupadi_Ratha)
เทวาลัยภีมะรถะ (Bhima ratha)
เป็นหนึ่งในปัญจรถะ ถือเป็นอาคารที่แสดงรูปแบบเริ่มแรกของสถาปัตยกรรมปัลลวะ โดยสลักจากหินก้อนเดียวเป็นอาคารยาวทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเป็นจั่วสามเหลี่ยมคล้ายกับมุงด้วยฟาง อาคารทรงยาวเช่นนี้เรียกว่าทรง “ศาลา” เมื่อพิจารณาจากด้านข้าง เห็นได้ชัดว่า พัฒนาต่อจากมุขด้านหน้าของศาสนสถานประเภทที่แกะสลักเข้าไปในถ้ำ แต่ประดับประดาด้วยอาคารจำลองขนาดเล็ก ที่เรียกว่า “กุฑุ” ในบริเวณหลังคา ซึ่งอาคารจำลองเหล่านี้ เป็นองค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่แสดงฐานันดรสูงของศาสนสถาน อันหมายถึง “ปราสาทเรือนซ้อนชั้น”
นักวิชาการเชื่อว่าการที่ภีมะรถมีแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าเช่นนี้ แต่เดิมอาจจะกำหนดไว้สำหรับประดิษฐานพระวิษณุอนันตศายิน (นารายณ์บรรทมสินธุ์) อาคารนี้แกะสลักจากหินก้อนเดียวเช่นกันกับอาคารอื่น ๆ โดยเริ่มจากยอดลงมาถึงฐาน แต่บริเวณฐานและห้องครรภ์นั้นยังแกะสลักไม่เสร็จ นักโบราณคดีเชื่อว่าอาคารแห่งนี้ยังไม่ได้รับการถวายให้เป็นวัดอย่างเป็นทางการ
ทัวร์อินเดียใต้
ภีมะรถะ ในกลุ่มปัญจรถ สังเกตเห็นการประดับ กุฑุ หรือหน้าจั่วจำลองรูปเกือกม้าที่หลังคา
(ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Bhima_Ratha)
เทวาลัยอรชุนรถะ และเทวาลัยธรรมราชารถะ
เทวาลัยทั้งสองหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มปัญจรถะทั้งห้า มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือเป็นอาคารทรงวิมาน หรือปราสาทเรือนซ้อนชั้น ที่มียอดประดับปราสาทจำลองขนาดเล็กซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปเพียง 3 ชั้น ส่วนยอดสุดเป็นโดมขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “กูฎะ” ภายนอกประดับภาพสลักเทพเจ้าต่าง ๆทวารบาล และเสาโปร่งรอบที่รองรับด้วยรูปสิงโต
ทัวร์อินเดียใต้
รูปธรรมราชารถะ เป็นปราสาททรงวิมานยุคแรกของอินเดียใต้
(ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Dharmaraja_Ratha)
2.สถาปัตยกรรมยุคปลาย
สถาปัตยกรรมราชวงศ์ปัลลวะในยุคปลาย (ราวพุทธศตวรรษที่ 13 -14) แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มที่สร้างโดยพระเจ้านรสิงหวรมันที่ 2 (หรือราชสิงหะ) และกลุ่มของพระเจ้านันทิวรมัน
สมัยนี้มีลักษณะเด่นคือ นิยมการสร้างปราสาทก่อด้วยหินทรายซ้อนชั้นขึ้นไปมากกว่าการแกะสลักถ้ำหรือหน้าผา หรือหินขนาดใหญ่แบบสมัยต้นราชวงศ์ อาคารต่าง ๆ เริ่มมีการวางแผนผังอย่างเป็นระบบระเบียบ มิได้สร้างกระจัดกระจายกันแบบเทวาลัยปัญจรถะ ส่วนตัวปราสาทประธานนั้น ซ้อนชั้นจำนวนมากกว่า 3 ชั้น อันเป็นรูปแบบในระยะแรกกลายเป็น 5 ชั้น ทั้งมีการเพิ่มส่วนของมณฑปสำหรับประกอบพิธีกรรมทางด้านหน้าด้วย ตัวอย่างของเทวาลัยที่สำคัญได้แก่ เทวาลัยชอร์ เทวาลัยไกรลาสนาถ และเทวาลัยติรุปรเมศวร วินนะคาม
เทวาลัยชอร์
เป็นเทวาลัยที่ตั้งอยู่บนหาดทรายริมทะเลในเมืองมามัลลปุรัม บนพื้นที่ที่เคยเป็นเมืองท่าอันคับคั่งของราชวงศ์ปัลลวะ มาร์โคโปโล นักเดินทางผู้โด่งดังชาวอิตาลี เคยได้พบเห็นเทวาลัยแห่งนี้ อันถือว่าเป็นมหาเทวาลัยสำคัญหนึ่งใน 7 แห่งของอินเดียใต้สมัยนั้น (ส่วนเทวาลัยอื่น ๆ จมลงใต้ทะเลแล้ว ส่วนเทวาลัยชอร์ก็เคยถูกคลื่นสึนามิซัดเมื่อปี 2547 แต่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก) วัดแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้พระศิวะเป็นหลัก โดยประดิษฐานศิวลึงค์ที่มีลักษณะพิเศษเรียกว่า ธารลึงค์ (Dharalinga) ซึ่งเป็นศิวลึงค์ 16 เหลี่ยมสูง 6 ฟุต ส่วนบริเวณโดยรอบ ยังพบเทวประติมาจำนวนมากที่น่าสนใจ เช่น โสมสกันทะ (รูปครอบครัวพระศิวะ) หรือรูปเอกบาทมูรติ (เป็นตรีมูรติปางยืนที่มีพระบาทเดียว ซึ่งหาชมได้ยาก)
นอกจากการนับถือพระศิวะเป็นหลักแล้ว ก็มีห้องครรภ์ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังหนึ่ง ซึ่งประดิษฐานพระนารายณ์บรรทมสินธุ์แบบนอนหงาย ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของศิลปะอินเดียใต้ ซึ่งในอดีตอยู่ในระดับที่น้ำทะเลสามารถท่วมขึ้นมาถึงได้ ปัจจุบันวัดนี้มิได้คงสถานภาพศาสนสถาน แต่ก็มีชาวฮินดูนำดอกไม้มาบูชาอยู่เนืองๆ
ทัวร์อินเดียใต้
ภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ในเทวาลัยชอร์
(ที่มา : https://smarthistory.org/shore-temple-mamallapuram/)
จากการขุดค้นทางโบราณคดียังได้พบบ่อน้ำรูปไข่ ประดิษฐานพระนารายณ์อวตารเป็นหมูป่า (วราหาวตาร) ช้อนภูเทวีขึ้นจากมหาสมุทร บ่อน้ำนี้สร้างขึ้นในระดับที่น้ำทะเลสามารถท่วมถึงได้ ระลึกถึงเหตุการณ์ที่พระนารายณ์เสด็จลงไปช้อนแผ่นดิน (มีภูเทวีเป็นสัญลักษณ์) ขึ้นมาจากมหาสมุทร และได้พระนางเป็นชายา
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเทวาลัยชอร์นั้น จะเห็นได้ชัดว่า ตัวปราสาทประธานมีการซ้อนชั้นมากขึ้น เพิ่มยิ่งกว่าเทวาลัยปัญจรถะ โดยมีชั้นซ้อนถึง 6 ชั้น และเพิ่มทางเดินประทักษิณภายในอาคาร ซึ่งไม่ปรากฏมาก่อนในระยะแรก อีกทั้งยังมีการสร้างปราการ หรือกำแพงล้อมรอบเทวาลัย ซึ่งประดับรูปโคนนทินอนอยู่เหนือกำแพงอีกด้วย
ทัวร์อินเดียใต้
ภาพเทวาลัยชอร์ สร้างสมัยพระเจ้านรสิงหวรมันที่ 2 มีการเพิ่มจำนวนชั้นซ้อนเข้าไปและสร้างมณฑปยอดด้านหน้า
ทัวร์อินเดียใต้
แผนผังของเทวาลัยชอร์ จะเห็นการเพิ่มทางประทักษิณภายในอาคารประธาน
(ที่มา : https://smarthistory.org/shore-temple-mamallapuram/)
เทวาลัยไกรลาสนาถที่เมืองกาญจีปุรัม
เทวาลัยไกรลาสนาถ เป็นวัดฮินดูที่สร้างขึ้นในช่วงปลายราชวงศ์ปัลลวะโดยพระเจ้านรสิงหวรมันที่ 2 (ราชสิงหะ) พระองค์และพระมเหสีได้สถาปนาเทวาลัยในชื่อ ราชสิงหะปัลลเวศวรคฤหะ (ชื่อจริงของวัดไกรลาสนาถ) ไว้ที่เมืองกาญจีปุรัมอันถือเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ เทวาลัยแห่งนี้สร้างขึ้นอย่างซับซ้อนและเสร็จสมบูรณ์ในสมัยพระราชโอรส และกลายเป็นแบบอย่างให้พระเจ้าราชาราชะแห่งราชวงศ์โจฬะ ที่จะเจริญขึ้นในสมัยหลัง พระองค์เสด็จมาที่นี่และทรงประทับใจมาก ได้ทรงนำแบบของวัดนี้ไปสร้างเป็นเทวาลัยพฤหธิศวร
เทวาลัยประธานพัฒนาขึ้นซับซ้อนกว่าเดิมมาก มีการเพิ่มองค์ประกอบที่ใกล้เคียงกับวัดฮินดูในปัจจุบันมากขึ้น เช่น
– โคปุระทางด้านตะวันออก (ประดิษฐานโคนนทิ พาหนะของพระอิศวร) โคปุระนี้สร้างเพิ่มสมัยพระโอรส
-กำแพงล้อมของที่นี่มีลักษณะเด่นก็คือ เป็นกำแพงสองชั้นที่สามารถใช้ประทักษิณได้ เรียกว่าสันธารปราสาท และบริเวณรอบกำแพงมีการสร้างปราสาทหลังเล็ก ๆ (โควิล) ถึง 58 หลัง ประดิษฐานพระศิวะในปางต่าง ๆ ถึง เช่น สังหารมูรติ (ปางปราบอสูร 17 ปาง) ทักษิณามูรติ (ปางสั่งสอนธรรม) อนุครหมูรติ (ปางอนุเคราะห์ 23ปาง ) ภิกษณมูรติ (ปางภิกขาจาร) ซึ่งสลักขึ้นตามวรรณกรรมฮินดูในยุคนั้น
– มหามณฑป เป็นอาคารประกอบพิธีกรรมด้านหน้า มีเสารับหลังคาจำนวนมาก
– อัฒมณฑปหรืออันตรละ เป็นห้องยาวที่เชื่อมมณฑปเข้ากับปราสาทประธาน (ภาษาไทยเรียกมุขกระสัน)
-ปราสาทประธาน อยู่ในแผนผังแบบ ตรีรถะ หรือการยกมุขกระเปาะออกมาด้านละ 3 มุข แต่ละมุขจะประดับด้วยประติมากรรมทวารบาลและเทพเจ้าปางต่าง ๆ คั่นด้วยแถวของสิงโต หรือวยาล อันเป็นสัตว์ผสมระหว่างสิงโตและแพะ เป็นสัญลักษณ์ของแสงสว่าง เราสามารถพบรูปสิงโตกำลังเผ่นโผนได้ทั่วไปภายในวัด และจะกลายเป็นระเบียบในการประดับเสาของศิลปะอินเดียใต้ไปจนสมัยวิชัยนคร ภายในปราสาทประดิษฐานศิวลึงค์ 16 เหลี่ยมหรือธารลึงค์ เช่นเดียวกับที่เทวาลัยชอร์ ด้านหลังมีภาพโสมาสกันทะ หรือครอบครัวพระศิวะ ซึ่งเป็นตัวแทนของครอบครัวในอุดมคติที่กษัตริย์ปัลลวะปรารถนา
ทัวร์อินเดียใต้
วัดไกรลาสนาถ
ทัวร์อินเดียใต้
แผนผัง วัดไกรลาสนาถที่กาญจีปุรัม
(ที่มา : https://www.vikipandit.com/kanchi-kailasanathar-temple/)
ศิลปกรรมอื่น ๆ ของราชวงศ์ปัลลวะ
ประติมากรรม
ประติมากรรมของราชวงศ์ปัลลวะถือเป็นรูปแบบที่พัฒนามาจากราชวงศ์สาตวาหนะหรืออมราวดีที่เกิดขึ้นก่อน โดยมากเป็นงานแกะสลักจากหินขนาดใหญ่ และเป็นประติมากรรมนูนสูง ไม่ค่อยพบรูปสลักลอยตัว ซึ่งเป็นข้อสังเกตที่แตกต่างจากประติมากรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแม้ว่าจะได้รับอิทธิพลศิลปะปัลลวะอย่างรุนแรง แต่กลับเลือกสลักประติมากรรมลอยตัวมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเทวรูปรุ่นเก่า พระวิษณุใส่หมวกทรงกระบอกที่พบมากทางปราจีนบุรีและภาคใต้ของไทย หรือเทวรูปก่อนเมืองพระนครที่พบจากเมืองอังกอร์โบเรย นิยมภาพสลักลอยตัวและเน้นความสมจริงของกล้ามเนื้อมากกว่า นับว่าก้าวหน้าไปกว่าศิลปะจากอินเดียที่เป็นต้นแบบ
รูปสลักของศิลปะปัลลวะแสดงออกอย่างแข็งกร้าว เทวรูปมักยืนตรงที่เรียกว่าสมภังค์ หากเป็นพระวิษณุมักใส่หมวกทรงกระบอกที่เรียกว่า กีรีฏมกุฏ นุ่งผ้ายาวที่เรียกว่าโธตี พระหัตถ์ถือจักร สังข์ คทาและดอกบัว (ธรณี) ส่วนประติมากรรมพระศิวะนั้น แสดงออกอย่างชัดเจนจากการมุ่นมวยผมแบบนักบวช เรียกว่า ชฏามกุฏ (ผมอันรกชัฏ) มักแสดงปางต่าง ๆ ที่นิยมมากคือ ศิวนาฏราช เนื่องจากมีคตินิยมว่า พระศิวะเคยเสด็จลงมาฟ้อนรำที่เมืองจิทรัมพรัมในอินเดียใต้ และปางอื่น ๆ อีกมากมาย ที่มักประดับตามผนังถ้ำ หรือผนังเทวาลัย แสดงภาพเล่าเรื่องที่ชาวฮินดูสามารถเข้าใจและบูชาไปได้พร้อมกัน
ภาพสลักเล่าเรื่องที่โด่งดังที่สุดกลุ่มหนึ่งของราชวงศ์ปัลลวะตอนต้น ปรากฏที่เมืองมามัลลปุรัมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 ได้แก่ภาพการบำเพ็ญตบะของท้าวภาคีรถ ซึ่งต้องการล้างบาปให้กุมารทั้งหกหมื่นผู้เป็นบรรพบุรุษ กุมารเหล่านี้ไปล่วงเกินอวตารของพระวิษณุเข้าจึงถูกฆ่าด้วยไฟ และไม่สามารถขึ้นสวรรค์ได้จนกว่าจะได้รับการชำระด้วยน้ำจากแม่น้ำคงคา ซึ่งในขณะนั้นสถิตอยู่ในสรวงสวรรค์ เวลาล่วงมาถึงยุคของท้าวภคีรถ ท่านออกบำเพ็ญตบะจนพระพรหมสัญญาจะประทานแม่น้ำคงคาจากสวรรค์ให้ลงไปชำระเถ้ากระดูกของบรรพบุรุษ แต่มีเงื่อนไขว่า จะต้องให้พระศิวะช่วยรับน้ำคงคาไว้ที่มวยผมของพระองค์เสียก่อน มิเช่นนั้นความแรงของแม่น้ำจากสวรรค์จะทำลายโลก พระศิวะทรงรับคำ แม่น้ำคงคาจึงลงจากสวรรค์ผ่านทางมวยผม พระศิวะจึงได้ชื่อว่าเป็นคงคาธร หรือผู้รับแม่น้ำคงคา
ภาพสลักนี้อยู่เหนือทางน้ำขนาดเล็ก ซึ่งเชื่อว่าการแกะสลักภาพเล่าเรื่องบริเวณนี้จะช่วยให้น้ำในลำธารกลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในภาพจะเห็นรูปท้าวภคีรถกำลังยืนขาเดียวบำเพ็ญตบะ ด้านล่างของภาพมีนิทานเรื่องแมวบำเพ็ญตบะหลอกกินหนู กำลังยืนขาเดียวเช่นกันกับท้าวภคีรถ นับว่าเป็นอารมณ์ขันของศิลปินอันน่าชมยิ่ง
ทัวร์อินเดียใต้
ภาพการบำเพ็ญตบะของท้าวภคีรถ ช้างและนาคในภาพเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ
ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมราชวงศ์ปัลลวะ โดย อาจารย์ปติสร เพ็ญสุต
ท่านที่ต้องการเดินทาง ทัวร์อินเดียใต้ จะเที่ยวได้อย่างสนุกมากๆ เลยค่ะหลังจากได้ฟังเรื่องราวเบื้องลึกด้านสถาปัตยกรรมราชวงศ์ปัลลวะ แต่สำหรับท่านที่ไม่เน้นข้อมูล ก็สามารถร่วมเดินทางไปกับ ทัวร์อินเดียใต้ ได้เช่นกันนะคะ เพราะว่าแต่ละสถานที่มีความสวยงามวิจิตรบรรจงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานแกะสลักหินต่างๆ น่าทึ่งมากๆ เลยค่ะ