ทัวร์คัมชัตก้า : สัตว์ป่า สัตว์ทะเล และนกนานาชนิด
ทัวร์คัมชัตก้า : สัตว์ป่า สัตว์ทะเล และนกนานาชนิด
หมีสีน้ำตาลคัมชัตก้า
หมีสีน้ำตาลคัมชัตก้า เป็นหมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งหมีตัวผู้บางตัวสามารถมีน้ำหนักได้ถึง 700 กิโลกรัม ซึ่งเป็นผลมาจากอาหาร เช่น ปลาแซลมอน เมล็ดสน (ไพน์ นัท) และผลเบอร์รี่ป่า ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพลังงานในการรักษาน้ำหนักตัว ซึ่งมีระยะเวลามีการหาอาหารนาน 6 เดือน เป็นช่วงสำคัญสำหรับการสะสมพลังงานในการเอาตัวรอดในระยะเวลาอันยาวนาน ที่หมีสีน้ำตาลจะต้องใช้ในการจำศีล (นอนหลับ) ผ่านฤดูหนาวอันหฤโหดซึ่งนานถึง 6 เดือนในดินแดนคัมชัตก้า
อาหารของหมีสีน้ำตาลคัมชัตก้า (Kamchatka brown bear diet)
หมีสีน้ำตาลคัมชัตก้าเป็นทั้งสัตว์กินเนื้อและกินพืชที่ได้ในแต่ละฤดูกาล อาหารประเภทเนื้อ เช่น นากทะเล ในบางพื้นที่ หรือโชคดีเจอสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลอย่าง แมวน้ำ หรือแม้แต่วาฬตามชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะปลาแซลมอนทั้งหกสายพันธุ์เป็นอาหารโปรด ได้แก่ สายพันธุ์ราชา (King), สีชมพู (Pink) หรือฮัมแบ็ค (Humpback), ซ็อคอายแซลมอน (Sockeye), โคโฮ่ (Coho), และ ชุม (Chum) และปลาชาร์ (Char) ซึ่งอยู่ในวงศ์ปลาเทร้าต์และแซลมอน แต่มีขนาดตัวเล็กกว่า ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในแถบอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชียตอนเหนือจนถึงแหล่งน้ำจืดเขตอาร์ติก และมีวงจรชีวิตเหมือนกับปลาแซลมอน คือว่ายน้ำเข้ามาวางไข่ในแหล่งน้ำจืดภายในทวีป ขณะที่อาหารประเภทผลไม้ ได้แก่ เมล็ดสน หรือ ไพน์ นัท, เชอร์รี่, บลูเบอร์รี่, แครนเบอร์รี่, เบอร์รี่เถ้าภูเขาไฟ เป็นต้น และหมีสีน้ำตาลคัมชัตก้ายังกินพืชหลากหลายชนิด โดยเฉพาะพืชตระกูลกรามินอยด์ (graminoid) ซึ่งเป็นไม้ล้มลุกที่มีสัญฐานคล้ายหญ้าที่ขึ้นอยู่ตามชายน้ำหรือที่ชุ่มน้ำในช่วงต้นฤดูร้อนอีกด้วย
ถิ่นอาศัยของหมีสีน้ำตาลคัมชัตก้า (Kamchatka brown bear Habitat)
คัมชัตก้าเป็นถิ่นอาศัยดีที่สุดในโลกของหมีสีน้ำตาล จะพบเห็นหมีสีน้ำตาลมากมายเต็มไปหมด เดินหาอาหารตามลำธารระหว่างการวางไข่ของปลาแซลมอน ขณะเดียวกันก็มีนกนางแอ่นไซบีเรียนแคระ และทุ่งเบอร์รี่ทุนดราที่กว้างใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ให้หมีสีน้ำตาลเหล่านี้ และทุ่งหญ้าและกกริมชายฝั่งทะเล และพืชพันธุ์สีเขียวขจีที่เติบโตหลังฝนตกหนัก จะกลายเป็นดั่ง “สลัดบาร์” ของหมีสีน้ำตาลเหล่านี้ หลังแหล่งอาหารประเภทเนื้อสัตว์และผลไม้มีความสมบูรณ์น้อยลง และในฤดูใบไม้ร่วง หมีสีน้ำตาลคัมชัตก้ามักจะขุดโพรงบนที่สูงเป็นเนินลาดลงและหันไปทางทิศใต้
อาณาเขตของหมีสีน้ำตาลคัมชัตก้า (Kamchatka brown bear territory)
ขนาดอาณาเขตการหากินของหมีสีน้ำตาลแต่ละตัวหรือแต่ละครอบครัวแม่ลูก จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะของภูมิประเทศถิ่นอาศัยและแหล่งอาหารที่มีอยู่ จากการวิจัยของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) พบว่า ในพื้นที่ที่มีปลาแซลมอนชุกชุมมาก หมีจะมีพื้นที่หากินเพียง 12 ตร.กม. ตลอดทั้งปี แต่ถ้าหมีอาศัยอยู่ในแหล่งอาหารที่หายาก พื้นที่หากินอาจจะกว้างใหญ่ถึง 1,100 ตร.กม. และจากการจับเส้นทางการเคลื่อนตัวด้วย GPS พบว่าหมีสามารถเดินทางได้ไกล 65 กม.ต่อวัน และข้ามเทือกเขาตอนกลางของคัมชัตก้า ไปยังเส้นทางการว่ายทวนน้ำขึ้นมาวางไข่ของปลาแซลมอนในส่วนต่าง ๆ ของคาบสมุทรคัมชัตก้า และบางครั้งอาจออกจากพื้นที่คุ้มครองข้ามมายังพื้นที่เช่าล่าสัตว์ของมนุษย์
การสืบขยายพันธุ์หมีสีน้ำตาลคัมชัตก้า (Kamchatka brown bear reproduction)
หมีสีน้ำตาลตัวเมียในคัมชัตก้าสามารถเริ่มขยายพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 4 ปี และมักจะออกลูกครั้งละ 2-3 ตัว และจากการวิจัยของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) พบว่าแม่หมีสีน้ำตาลพร้อมลูกของมัน โดยบางตัวจะไม่เข้าใกล้ลำธารที่เป็นแหล่งของปลาแซลมอน เพื่อหลีกเลี่ยงและลดความเสี่ยงไม่ให้ลูกของพวกมันถูกหมีตัวอื่นฆ่า แต่ก็ถูกบังคับให้อยู่รอดในแหล่งอาหารที่มีความสมบูรณ์น้อย ซึ่งการเพิ่มน้ำหนักให้เพียงพอต่อการอยู่รอดระหว่างการจำศีลในฤดูหนาว ยิ่งลูกหมีที่เกิดในถ้ำในช่วงเวลาดังกล่าว หากแม่หมีที่ตั้งท้องเข้าไปจำศีลในถ้ำโดยที่ไม่มีสารอาหารที่ดีเพียงพอ มักจะไม่สามารถเลี้ยงดูลูกของมันได้ และการตั้งครรภ์จะสิ้นสุดก่อนฤดูหนาวจะสิ้นสุดลง ในขณะที่หมีสีน้ำตาลตัวผู้มีความสัมพันธ์กับสถานะทางสังคม การเข้าถึงอาหาร และคู่ครอง หมีตัวเมียจะถูกกระตุ้นให้เป็นสัด และหมีตัวผู้อาจต้องตามหมีตัวเมียเป็นเวลาหลายสัปดาห์จนกว่าจะพร้อมผสมพันธุ์ ในระหว่างนี้หมีตัวผู้อาจต้องต่อสู้เพื่อแย่งชิงคู่ครองกับหมีตัวผู้อื่น
ประชากรและการกระจายตัวของหมีสีน้ำตาลคัมชัตก้า (Kamchatka Brown Bear Population and Distribution)
หมีสีน้ำตาลเป็นสัตว์กินเนื้อที่กระจายตัวอย่างกว้างขวางทั้งทางตอนแหนือของทวีปเอเชีย อเมริกาเหนือ และยุโรป โดยเฉพาะในพื้นที่คุ้มครองที่ห่างไกลในรัฐอะลาสก้าของสหรัฐอเมริกา และคาบสมุทรคัมชัตก้าของสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของหมีสีน้ำตาลที่แน่นหนาที่สุดในโลก จากการรุกพื้นป่าอันบริสุทธิ์เพื่อขุดสำรวจหาทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ประชากรหมีได้แตกกระจาย และสถานการณ์ของหมีสีน้ำตาลคัมชัตก้าปัจจุบันคงอยู่ในความเสี่ยงที่จะกลายเป็นสัตว์หายาก แม้จะมีการประมาณการประชากรหมีที่หลงเหลืออยู่ในคาบสมุทรคัมชัตก้าทั้งหมด 10,000-14,000 ตัว แต่ก็เป็นการสังเกตอย่างไม่เป็นทางการของเหล่าพรานป่าและคนงานป่าไม้ ในปัจจุบันมีความพยายามอย่างมากในการหาวิธีการสำรวจประชากรใหม่ เพื่อให้ได้แนวโน้มระยะยาวของประชากรหมีในภูมิภาค มีความเป็นได้ว่ายิ่งความเจริญหรือมีการขุดสำรวจทรัพยากร จะส่งผลให้ประชากรหมีมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ จะอาจสูญพันธุ์ในที่สุด
ความสัมพันธ์ของหมีสีน้ำตาลคัมชัตก้ากับมนุษย์ (Kamchatka Brown bear relationship with humans)
โดยทั่วไปแล้วหมีสีน้ำตาลคัมชัตก้าไม่มีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ มีเพียงร้อยละ 1 ของการเผชิญหน้าเท่านั้นที่มนุษย์ถูกหมีสีน้ำตาลโจมตี โดยชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เข้าไปในคัมชัตก้าในศตวรรษที่ 19 ที่ทึ่งกับจำนวนและขนาดตัวของหมี แต่พวกเขาสังเกตว่าพวกมันค่อนข้างไม่อันตราย เมื่อเทียบกับหมีสีน้ำตาลในไซบีเรีย แต่อย่างไรก็ตาม ในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 2008 ในเหมือนแร่ทองคำขาวในเขตอาลิยุโตรสกิ ของเขตปกครองคัมชัตก้า ไกร ทางตอนเหนือของคาบสมุทรคัมชัตก้า ทหารยามสองนายถูกกลุ่มหมีสีน้ำตาลที่หิวโหย 30 ตัว เข้าปิดล้อมและสังหารเสียชีวิต
ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการล่าหมีสีน้ำตาลคัมชัตก้า (The price to pay for hunting Kamchatka Brown bears)
หมีสีน้ำตาลคัมชัตก้าเป็นหนึ่งในรางวัลที่มีค่ามากสำหรับอุตสาหกรรมการล่าสัตว์ของรัสเซียในปี ค.ศ. 2005 ได้มีโดย หน่วยงานการจัดการสัตว์ป่าคัมชัตก้า (Kamchatka Department of Wildlife Management) ได้ออกใบอนุญาตล่าสัตว์จำนวน 500 ใบ โดยลูกค้าต้องจ่ายเงินสูงถึง 10,000 เหรียญดอลล่าห์สหรัฐ หรือประมาณ 341,000 บาทสำหรับการล่าหมีเพื่อการสันทนาการ ยิ่งส่งผลให้ประชากรหมีสีน้ำตาลคัมชัตก้าใกล้สูญพันธุ์ในรัสเซียเร็วขึ้น
แกะหิมะคัมชัตก้า (Kamchatka snow sheep)
เป็นแกะที่มีเขาขนาดใหญ่เป็นญาติที่ใกล้ชิดกับแกะบิ๊กฮอร์นภูเขาร็อคกี้ (Rocky Mountain Bighorn sheep) ในอเมริกาเหนือ แกะหิมะคัมชัตก้าเป็นแกะหิมะพันธุ์ใหญ่ที่สุดในแกะหิมะสายพันธุ์รัสเซีย มีขนสีน้ำตาลช็อกโกแลตเข้ม ซึ่งเข้มกว่าแกะหิมะสายพันธุ์อื่น ๆ ไม่มีลายแผ่นสีขาวหรือสีอ่อนที่หน้าผาก
สายพันธุ์แกะหิมะรัสเซีย (Subspecies of Russian snow sheep)
แกะหิมะของรัสเซีย มี 5 สายพันธุ์หลัก ประกอบไปด้วย
– แกะหิมะคัมชัตก้า (Kamchatka snow sheep) บางครั้งถูกเรียกว่า แกะบิ๊กฮอร์นคัมชัตก้า (Kamchatka Bighorn sheep) โดยหากินไปทั้งบนแนวภูเขาในคาบสมุทรคัมชัตก้าขึ้นเหนือไปจนถึงฝั่งตะวันตกของสาธารณรัฐซาคฮาในแผ่นดินใหญ่ของรัสเซีย เป็นแกะที่ได้รับคะแนนสูงมากของการแข่งขันล่าสัตว์ในฤดูล่าสัตว์ของรัสเซีย
– แกะหิมะกอรยัค (Koryak snow sheep) เป็นแกะภูเขาที่มีทั้งขนาดและเขาเล็กที่สุดในเอเชีย มีขนสีเทาอ่อนจนถึงสีน้ำตาล มักมีสีขาวแปะที่หน้าผาก สามารถพบได้ทางตอนเหนือของคาบสมุทรคัมชัตก้าจนถึงแผ่นดิใหญ่ของไซบีเรีย
– แกะหิมะยาคูเชี่ยนและชูโตก้า (Yakutian, Chutoka snow sheep) เป็นแกะที่อยู่ในภูมิภาคยาคูเตีย โดยทุกตัวที่พบถือเป็นแกะหิมะยาคูเชี่ยนทั้งหมด พบได้จากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำลีน่าไปจนถึงเขตเมืองเวอรคโฮยันสค์ เชรสค์ มอม โกลีม่า และเทือกเขาอื่น ๆ ในแถบนั้น
– แกะหิมะโกลีม่า (Kolyma snow sheep) พบได้ในเขตมากาดานเท่านั้น ทางด้านเหนือของทะเลโอคอตสค์ ติดกับตอนเหนือคาบสมุทรคัมชัตก้า ซึ่งที่ตั้งของเทือกเขาโกลีม่า ที่มีแม่น้ำโกลีม่าขนาดใหญ่ไหลผ่าน จรดเทือกเขากอรยัคทางทิศตะวันออกซึ่งอยู่ตอนเหนือของคาบสมุทรคัมชัตก้า ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของฝูงแกะหิมะโกลีม่า
– แกะหิมะโอคอตสค์ (Okhotsk snow sheep) มีถิ่นอาศัยอยู่ในเขตคฮาบารอสค์ (Khabarovsk) ของไซบีเรีย แต่อาจเห็นบ้างในพื้นที่ของเขตมากาดาน
การล่าแกะหิมะ (Snow sheep Hunting)
ในคาบสมุทรคัมชัตก้ามีการล่าแกะหิมะ ซึ่งเป็นกีฬาสันทนาการที่ถือว่าทุกตัวบนคาบสมุทรคัมชัตก้า ตั้งแต่ใต้เส้นแวงที่ 60 สามารถล่าได้แต่ต้องผ่านบริษัทรับจัดโปรแกรมล่าสัตว์ โดยฤดูล่าแกะหิมะเริ่มวันที่ 1 สิงหาคม จนถึง 15 ตุลาคมในคาบสมุทรคัมชัตก้า และเรื่อยไปจนถึง 30 พฤศจิกายน ในแผ่นดินใหญ่ (แคว้นมากาดานและยาคูเตีย) โดยเวลาดีที่สุดในการล่าคือ สองสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม และสองสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน เพราะหากเลยไปกว่านี้จะเข้าสู่ฤดูหนาวจัด ซึ่งเสี่ยงสูงต่อสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำลายการล่าและอาจทำให้กลับเข้าเมืองล่าช้า
ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นประมาณ 10,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 15,000+18,000 ดอลล่าร์สหรัฐ โดยมีโอกาสล่าแกะได้สองถึงสามชนิดในการล่าหนึ่งครั้ง และค่าใช้จ่ายแพงที่สุดคือ การล่าแกะผสมกับการล่าหมีสีน้ำตาล