ทัวร์อียิปต์ : มหาวิหารอาบู ซิมเบล

ทัวร์อียิปต์

ทัวร์อียิปต์ : มหาวิหารอาบู ซิมเบล

ทัวร์อียิปต์ : มหาวิหารอาบู ซิมเบล

อาบู ซิมเบล Abu Simbel เป็นหมู่วิหารหินของชาวอียิปต์โบราณสร้างขึ้นในพื้นที่หมู่บ้านอาบู ซิมเบล บนฝั่งตะวันตกของทะเลสาบนาสเซอร์ ห่างจากเขื่อนอัสวานไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 300 กม. ในเขตปกครองอัสวาน ภูมิภาคอียิปต์ตอนบน ใกล้ชายแดนประเทศซูดาน

มหาวิหารอาบู ซิมเบล เป็นวิหารแฝดขนาดใหญ่มหึมา เดิมถูกแกะสลักเข้าไปในไหล่เขาในศตวรรษที่ 13 ก่อนคริสตกาล โดยใช้เวลาสร้างประมาณ 20 ปี เพื่ออุทิศแด่องค์เทพอามุน ซึ่งรู้จักกันในนาม “วิหารแห่งรามเซสอันเป็นที่รักของเทพเจ้าอามุน” ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ของฟาโรห์รามเซสที่ 2 แห่งราชวงศ์ที่ 19 พร้อมด้วยราชินีเนเฟอร์ตารีผู้เลอโฉม และโอรส ธิดา ซึ่งเป็นรูปสลักหินขนาดเล็กที่เรียงอยู่บริเวณพระบาทของพระองค์ ซึ่งถือว่าแทบไม่มีความสำคัญ ไม่ได้รับการยกย่องในระดับเดียวกับพระองค์ อนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่ ความภูมิใจ และตัวตน (จากขนาดความใหญ่ของรูปสลักฟาโรห์) ของฟาโรห์รามเซส ที่มีชัยเหนือกองทัพฮิตไทต์ในสมรภูมิฆาเดศ และเป็นการกำหราบชาวนูเบียไม่ให้มารุกรานอียิปต์ แต่ขณะเดียวกันพระองค์ได้สร้างสิ่งวิหารต่าง ๆ ขึ้น เพื่อเอาใจชาวนูเบีย โดยที่ผู้สร้างเป็นชาวนูเบีย และชาวอียิปต์เป็นผู้ควบคุม อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ศาสนาของชาวอียิปต์ไปยังดินแดนทางใต้

เมื่อการเวลาผ่านไปหลายศตวรรษ วิหารแห่งนี้ไม่ได้ถูกใช้งานตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและอำนาจการปกครองที่เปลี่ยนไป ทำให้มหาวิหารแห่งนี้ถูกเนินทรายทับถม ในศตวรรษที่ 6 รูปปั้นวิหารหลักถูกปกคลุมจนถึงหัวเข่า และไม่ได้รับการสนใจ จนกระทั่งนักวิจัยชาวสวิสเซอร์แลนด์ โยฮัน ลุดวิก บวร์กขาดท์ ได้มาพบวิหารเล็กและผนังด้านบนสุดของมหาวิหาร ซึ่งเขาได้เอาเรื่องที่ได้เจอมา ไปคุยกับจิโอวานนี่ เบลโซนี่ นักสำรวจชาวอิตาลี และพากันไปที่วิหารอาบู ซิมเบล แต่ไม่สามารถขุดทางเข้าวิหารได้ และมาประสบความสำเร็จในปี ค.ศ. 1817 พร้อมด้วยรายละเอียดบนผนังและเสาของวิหาร

ต่อมาในปี ค.ศ.1968 หมู่ศาสนสถานทั้งหมดได้ถูกย้ายขึ้นสู่ที่สูง เพื่อหลีกเลี่ยนการจมอยู่ในใต้น้ำในทะเลสาบนัสเซอร์ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำของเขื่อนอัสวาน โดยสร้างเนินเขาเทียมเพื่อใช้เป็นที่ตั้งของมหาวิหารอาบู ซิมเบล แห่งใหม่ พร้อมกับย้าย “อนุสรณ์สถานแห่งนูเบีย” ซึ่งประกอบด้วย วิหารฟิแล วิหารอาเมด้า และวิหารแห่งวาดิ เอส-เซบัว ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเช่นเดียวกัน ให้ขึ้นมาพ้นบริเวณที่น้ำท่วม

ทัวร์อียิปต์
ทัวร์อียิปต์

ทัวร์อียิปต์ : ภายในอาบู ซิมเบล

ทัวร์อียิปต์ : เมื่อมองจากฝั่งแม่น้ำ

รายละเอียดเกี่ยวกับมหาวิหาร

ทางเข้าหลักของวิหาร

มีทางเข้าเดียวที่ขนาบด้วยรูปสลักหินขนาดใหญ่ 4 รูป สูง 20 ม. โดยแต่ละองค์เป็นตัวแทนของฟาโรห์รามเซสที่2 ทั้งสิ้น ในท่าประทับนั่งบนบัลลังก์และสวมมงกุฎคู่ของอียิปต์บน (ตอนใต้ของประเทศอียิปต์) และอียิปต์ล่าง (ตอนบนของประเทศอียิปต์) เพื่อบอกว่าพระองค์มีพระราชอำนาจเหนือดินแดนทั้งสอง รูปปั้นทางด้านซ้ายของทางเข้าได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว ทำให้ศรีษะและลำตัวหลุดออกไป ซึ่งชิ้นส่วนที่หลุดร่วงไม่ได้รับการบูรณะ แต่วางไว้ที่พระบาทของรูปสลักหินในตำแหน่งที่พบตอนแรก ถัดจากขาของฟาโรห์รามเซสที่ 2 มีรูปสลักหินอื่น ๆ ที่มีขนาดเล็กกว่า (ไม่สูงไปกว่าเข่าของพระองค์) อีกจำนวนมาก ซึ่งรูปสลักของราชินีเนเฟอร์ตารี เมริทมุต ชายาคนสำคัญ พระนางมุตตุยพระมารดา โอรสสององค์แรก คือ อามุน-เฮอร์-เคเปเชฟ และ รามเซส บี และธิดาหกพระองค์แรก ได้แก่ บินตานาถ บาเก็ตมุต เนเฟอร์ตารี เมริตาเมน เนเบ็ตตาวี และ ไอเซตโนเฟรต

ด้านหน้าวิหาร

มีขนาดมหึมาสูง 33 ม. (ตึก 10 ชั้น) กว้าง 38 ม. (อาคารพาณิชย์แถว 7-9 ห้อง) มีลวดลายใต้ชายคาวิหารเป็นรูปลิงบาบูนสองตัว กำลังบูชาพระอาทิตย์ขึ้น พร้อมกับยกแขนขึ้น และแผ่นจารึกบันทึกการราชาสมรสของพระธิดาของกษัตริย์ฮอตตุสซีเลที่สามแห่งอาณาจักรฮิตไทต์กับพระองค์ เพื่อผนึกสันติภาพระหว่างอาณาจักรอียิปต์และอาณาจักรฮิตไทต์ในคาบสมุทรอนาโตเลีย

ประตูทางเข้า

เต็มไปด้วยภาพสลักนูนต่ำชองฟาโรห์ที่บูชาเทพ รา ซึ่งเป็นสุริยเทพ ซึ่งมีเศียรเป็นเหยี่ยว ตระหง่านอยู่ในช่องขนาดใหญ่ ในท่าถือชนนกด้วยมือชวาและ เทพีมาต ซึ่งเป็นเทพีแห่งความจริงและความยุติธรรมอยู่ทางด้านซ้าย ซึ่งมีความหมายว่า บัลลังก์ของรามเซสที่ 2 ได้รับการอุปถัมภ์จากทั้งสองเทพ

การตกแต่งภายใน

ภายในวิหารมีรูปแบบสามเหลี่ยมแบบเดียวกับวิหารอียิปต์โบราณที่ทำตามกันมา โดยมีห้องขนาดเล็กลงตั้งแต่ทางเข้าไปจนถึงส่วนที่ศักดิ์สิทธิ์ วิหารมีโครงสร้างที่ซับซ้อนและค่อนข้างแปลกตา เพราะมีห้องด้านข้างจำนวนมาก “ห้องโถง ยาว 18 ม. และกว้าง 167 ม. ก่อสร้างด้วยรูปแบบ “ไฮโปสไตล์ หรือเรียกอีกอย่างว่า โปรนาโอส” ที่หลังคาวางอยู่บนเสาโอซิริดขนาดใหญ่ 8 ต้น แสดงภาพสลักของฟาโรห์รามเซสที่ 2 เชื่อมความสัมพันธ์กับเทพโอซิริส ซึ่งเป็นองค์เทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรรม ชีวิตหลังความตาย การคืนชีพ และพืชพรรณ เพื่อบงบอกถึงธรรมชาตินิรันดร์ของฟาโรห์ โดยรูปสลักหินขนาดมหึมาตามผนังด้านซ้ายเป็นภาพมงกุฎสองชั้นอียิปต์บนและล่าง ภาพนูนต่ำและสูงบนผนังหลังคาโปรนาโอส แสดงถึงฉากการสู้รบของทหารฟาโรห์รามเซสในสมรภูมิฆาเดศบนแม่น้ำโอรอนเตสในประเทศซีเรียปัจจุบัน ซึ่งองค์ฟาโรห์ได้ต่อสู้กับชาวฮิตไทต์ โดยภาพนูนต่ำที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ ภาพของฟาโรห์บนราชรถทรงยิงธนูใส่ศัตรูที่กำลังหลบหนี และจับเป็นเชลย รวมถึงฉากอื่น ๆ ที่แสดงชัยชนะของอียิปต์ในลิเบียและนูเบีย

จากโถงไฮโปสไตล์แรก มายังโถงที่สองซึ่งมีเสาสี่ต้นประดับด้วยฉากเครื่องบูชาที่สวยงาม มีการพรรณนาถึงฟาโรห์รามเซสกับราชินีเนเฟอร์ตารี กับเรือศักดิ์สิทธิ์ของเทพอามุน-ราและเทพรา-โฮรัคห์ตี ซึ่งเป็นโถงที่ไปยังห้องด้นหน้า (ห้องเล็ก ๆ อยู่หน้าห้องใหญ่) ซึ่งเป็นห้องตามขวาง ตรงกลางห้องเป็นทางเข้าสู่วิหาร ซึ่งบนผนังสีดำมีรูปสลักหินเป็นรูปคนนั่งสี่คน ได้แก่ เทพรา-โฮรัคห์ตี (เทพราที่หลอมรวมกับเทพฮอรัส) ฟาโรห์รามเซสในฐานะเทพ เทพอามุน-รา (เทพอามุนหลอมรวมกับเทพรา) และเทพพทาห์ (เทพผู้สร้าง) ซึ่งเป็นเทพหลักในยุคนั้น โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเฮลิโอโปลิส ธีบส์ และเมืองเมมฟิส ตามลำดับ

การจัดการมุมการส่องสว่างของแสงอาทิตย์

เชื่อกันว่าแกนของมหาวิหารถูกจัดวางโดยสถาปนิกชาวอียิปต์โบราณ ให้แสงส่องเข้าไปในวิหารและส่องไปยังประติมากรรมนูนต่ำเหล่านั้น ยกเว้นภาพสลักของเทพพทาห์ ซึ่งเป็นเทพเกี่ยวข้องกับอาณาจักรแห่งความตาย ภาพสลักจึงอยู่ในส่วนที่มืดของวิหารเสมอ โดยจะตรงกับวันที่ 22 ตุลาคม หรือ 22 กุมภาพันธ์ ช่วงเวลานั้นมหาวิหารแห่งนี้จะเต็มไปด้วยผู้คนมากมายมารวมกัน เพื่อชมความงดงามของภาพสลักหินจากการรังสรรค์ของมนุษย์กับแสงอาทิตย์ที่สาดกระทบงดงามยิ่ง

โดยทั้งสองวันดังกล่าวเชื่อกันว่าเป็นเฉลิมพระชนม์พรรษาและวันราชาภิเษกของฟาโรห์รามเซส ซึ่งยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน อย่างไรก็ตามข้อสันนิษฐานนี้มีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์สำคัญบางอย่าง ซึ่งจากการคำนวณตามการขึ้นลงของดาวซิริอุส และคำจารึกที่นักโบราณคดีค้นพบ ระบุว่า “ต้องเป็นวันที่ 22 ตุลาคม ภาพลักษณ์ขององค์ฟาโรห์จะเปลี่ยนแปลงดีขึ้นและฟื้นฟูด้วยพลังของดาวสุริยะ และรามเซสมหาราชผู้เป็นเทพ สามารถเข้ามาแทนที่พระองค์ ถัดจากเทพ อามุน-รา และ รา-โฮรัคห์ตี

แต่เนื่องจากเส้นทรอปิกออฟแคนเซอร์ ซึ่งมีเคลื่อนตัวสะสมตามแกนของโลก ซึ่งกาลเวลาผ่านมานานกว่าสามพันปี ทำให้วันที่ของเหตุการณ์มีความแตกต่างออกไปจากวันที่สร้างวัด ประกอบกับการย้ายวิหารจากจุดดั้งเดิมมายังเนินเขาที่ใหม่ ทำให้การส่องของแสงอาทิตย์ไม่แม่นยำเท่าจุดเดิม

วิหารเล็ก

วิหารฮาธอร์และเนเฟอร์ตารี ซึ่งเรียกว่า วิหารเล็ก สร้างขึ้นประมาณ 100 ม. ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวิหารแห่งรามเซส ที่ 2 โดยสร้างอุทิศแด่เทวีฮาธอร์ และพระนางเนเฟอร์ตารี ซึ่งเป็นมเหสีของฟาโรห์รามเซสที่ 2 ซึ่งนี่เป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณ ที่มีการสร้างวิหารอุทิศให้แด่ราชินี (โดยในครั้งแรกเป็นสร้างวิหารของฟาโรห์อะเคนาเต็น อุทิศในแด่พระนางเนเฟอร์ตีติ พระมเหสีผู้ยิ่งใหญ่ชองพระองค์) โดยเป็นซุ้มหินที่ประดับด้วยโคลอสซี่ (ผนังหินสูง) สองกลุ่มคั่นด้วยประตูขนาดใหญ่ มีรูปฟาโรห์และราชินีสลักหินสูงมากกว่า 10 ม. เล็กน้อย ทั้งสองด้านของประตูใหญ่จะมีรูปฟาโรห์ขนาดใหญ่สององค์ สวมมงกุฎสีขาวของอียิปต์บน และมงกุฎคู่ของอียิปต์เหนือ ขนาบข้างด้วยรูปปั้นของราชินี

แต่ก็มีสิ่งที่น่าประหลาดใจในศิลปะอียิปต์โบราณนี้ อยู่ที่รูปสลักหินของฟาโรห์และพระชายาของพระองค์มีขนาดเท่ากัน ซึ่งโดยปกติแล้วรูปสลักของราชินีจะสูงไม่เกินเข่าขององค์ฟาโรห์ และรูปสลักเล็กๆ ของเหล่าโอรสและธิดาที่ตั้งอยู่ข้างพระบิดาและพระมารดา ถูกวางในตำแหน่งที่ได้สัดส่วนสมดุลกัน จากซ้ายไปขวา ได้แก่ เจ้าชายเมอรยาตัม เจ้าชายเมอรีเร่ เจ้าหญิงมาริตาเมน เจ้าหญิงเฮนุตตาวี เจ้าชายปาเรเฮอรเวเนเมฟ และเจ้าชายอามุน-เฮอร์-คอฟเปช  ในขณะที่แผนผังของวิหารแห่งนี้ถูกก่อสร้างแบบเรียบง่ายต่างจากวิหารใหญ่ด้านหลัง

การก่อสร้างวิหารเล็กนี้มีการใช้โครงสร้างโถงอาคารแบบไฮโปสไตล์ รองรับหลังคาด้วยเสาหินขนาดใหญ่ 6 ต้น แต่ไม่ได้ใช้เสาโอซิริสที่มีภาพสลักของฟาโรห์ แต่เป็นฉากที่ราชินีกำลังเล่น ซิสตรัม (เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีหรือเขย่าของอียิปต์โบราณ) แทน และมีภาพสลักของเทพีต่าง ๆ อย่าง เทพีฮาธอร์ เทพีไอซิส เทพีมาอัต เทพีมุตแห่งอัสเชอร์ เทพีซาติส และเทพีตาเวเรต รวมถึงภาพสลักของฟาโรห์รามเซสกำลังถวายดอกไม้หรือเผาเครื่องหอม หัวเสาโอซิริสเป็นรูปพระพักต์ของเทพีฮาธอร์ ซึ่งเรียกว่า หัวเสาแบบ “ฮาธอริค” ภาพนูนต่ำบนเสาในโถงเป็นภาพการถวายตัวเป็นฟาโรห์ การทำลายล้างศัตรูทางเหนือและใต้ (ในฉากนี้ฟาโรห์เสด็จมาพร้อมกับพระมเหสี) และพระราชินีกำลังถวายเครื่องบูชาแด่เทพีฮาธอร์และเทพีมุต จากห้องโถงไฮโปสไตล์ผ่านประตูใหญ่ 3 บาน มายังห้องด้นหน้าที่ผนังด้านใต้และด้านเหนือ มีภาพนูนต่ำที่งดงามและภาพของฟาโรห์และพระมเหสีที่สง่างาม ยื่นต้นปาปิรุสให้แก่เทพีฮาธอร์ ซึ่งเป็นภาพวัวบนเรือที่แล่นผ่านต้นปาปิรุสหนาทึบ บนผนังด้านทิศตะวันตกเป็นภาพ ฟาโรห์รามเซสที่ 2 และราชินีเนเฟอร์ตารี กำลังถวายเครื่องบูชาแด่เทพฮอรัสและเหล่าเทพแห่งเกาะแก่งแห่งไนล์ หรือ คาตาแรค ออฟ เดอะ ไนล์ ได้แก่เทพซาติส เทพอนูบิส และเทพคานุม

ภาพสลักนูนต่ำบนด้านข้างภายในโถงศักดิ์สิทธิ์ขนาดเล็กแห่งนี้ แสดงภาพของการถวายของแด่องค์เทพต่าง ๆ ที่ทำโดยฟาโรห์และราชินี บนกำแพงด้านหลังทางตะวันตกตามแนวแกนของวิหาร มีช่องประดิษฐานของเทพีฮาธอร์ ซึ่งมีฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดประจำวิหารแห่งนี้ โดยมีรูปสลักเป็นวัวที่กำลังออกมาจากภูเขา และราชินีเนเฟอร์ตารีทำหน้าที่เป็นผู้สื่อสารกับองค์เทพีฮาธอร์อย่างใกล้ชิด

สอบถามโปรโมชั่นทัวร์อียิปต์ Line ID : beejourney
Scroll to Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า