ทัวร์เนปาล : กาฐมัณฑุ Kathmandu
ทัวร์เนปาล : กาฐมัณฑุ Kathmandu
กาฐมัณฑุ ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาใกล้กับจุดบรรจบของแม่น้ำบัคมาติและวิษณุมาติ บนความสูง 1,324 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล บริเวณตีนเทือกเขาหิมาลัยตอนกลาง ภายในหุบเขากาฐมัณฑุ เป็นหนึ่งในเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยก่อตั้งขึ้นประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 6 โดยราชา คุณะกามะเทวะ ซึ่งเป็นชาวชาติพันธุ์นีวาร์ เดิมมีชื่อว่า มัณชุ-ปาตัน Manju-Patan ปัจจุบันชื่อดังกล่าว หมายถึง วิหารไม้กลางเมือง โดยคำว่า กาฐ Kath มีความหมายว่า ไม้ และ มัณฑุ มาจากคำว่า มันธีร์ Mandir หรือ มณเฑียร ในภาษาไทย มีความหมายว่า วัด สิ่งปลูกสร้าง ดังนั้นคำว่า กาฐมัณฑุ จึงมีความหมายว่า “วิหารไม้” ซึ่งเป็นที่พำนักของเหล่าผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกกันว่า “สาธุ Sadhu” ต่อมา กาฐมัณฑุ ได้กลายเป็นคำเรียกชื่อเมืองติดปาก จนกลายเป็นชื่อทางการของเมืองหลวงของเนปาลในที่สุด
ระหว่างปี ค.ศ. 1768-2008 กาฐมัณฑุได้กลายเป็นศูนย์กลางการปกครองของราชวงศ์ซาห์ Shah Dynasty ของชาวกูรข่า และได้กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการค้าสำคัญที่ของประเทศ จากความพยายามของเหล่าตระกูลพ่อค้าชาวนีวาร์ที่เป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิม ต่อมาได้กลายเป็นศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ อันเกิดจากความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของประเทศเนปาล โดยศาสนาฮินดูเป็นศาสนาหลักและศาสนาพุทธเป็นศาสนาอันดับสองของชาวเนปาล
ในช่วงทศวรรษ 1970 มีการก่อสร้างถนนสายใหม่และขยายบริการทางอากาศ โดยการสร้างสนามบินที่กาฐมัณฑุและได้กลายเป็นศูนย์กลางระบบขนส่งทางอากาศแห่งชาติ ที่ก่อนหน้านั้นการสัญจรจำกัดอยู่เพียงแค่การเดินเท้าบนถนนแคบๆ มาหลายร้อยปี สองข้างทางบนถนนสายหลักและสายรองเป็นอาคารและบ้าน ที่ทำจากอิฐที่มีการตกแต่งด้วยประตูหน้าต่างแกะสลักด้วยลวยลายเอกลักษณ์ประจำถิ่น ที่ได้เปลี่ยนโฉมหน้ากลายเป็นอาคารสมัยใหม่จำนวนมาก หลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 2015 และพระราชวังเก่าของกษัตริย์มัลละ เป็นอาคารที่โดดเด่นที่สุดในกาฐมัณฑุ ภายในมีวัดทาเลจู ที่สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1549 โดยราชามหินทรา มัลละ และประตูหลักของพระราชวังได้รับการปกป้องด้วยเทพหนุมานที่สร้างขึ้นเพื่อเฝ้าอยู่หน้าประตู ในจัตุรัสเล็กๆ ที่รายล้อมด้วยวัดที่มีเจดีย์หลากหลายรูปแบบ
กาฐมัณฑุได้ชื่อว่าเป็น ประตูสู่ดินแดนหิมาลัยเนปาล เส้นทางสู่ยอดเขาสูงระดับโลกอย่าง ยอดเขาเอเวอร์เรส เหล่ายอดเขาในเทือกเขาอันนาปูรณะ และแหล่งมรดกโลกหลายแห่งอย่าง จัตุรัสกาฐมัณฑุ เดอร์บาร์ วัดสวยัมภูนาถเจดีย์พุทธนาถ วัดปศุปฏินาถมณเทียร เป็นต้น