ทัวร์เนปาล : วัดปศุปฏินาถ Pashupatinath Temple
ทัวร์เนปาล : วัดปศุปฏินาถ Pashupatinath Temple
วัดปศุปฏินาถเป็นวัดสำคัญในกรุงกาฐมัณฑุ สร้างถวายแด่องค์ศิวะมหาเทพ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี ค.ศ. 1979 ในทุกๆ ปีจะมีผู้มาแสวงบุญและนักท่องเที่ยวมากมายเข้าชม วัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำบัคมาติศักดิ์สิทธิ์ที่ทอดยาวไหลลงสู่อินเดียและกลายเป็นหนึ่งในสาขาของแม่น้ำคงคา โดยใช้เป็นท่าน้ำเผาศพของศาสนิกชนฮินดูเช่นเดียวกับที่เมืองพาราณาสี โดยเชื่อกันว่าผู้ที่ตายในวัดปศุปฏินาถจะได้ไปเกิดใหม่เป็นมนุษย์อีกครั้ง ไม่ว่าจะเคยทำกรรมใดไว้ก็ตาม วัดอบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งความตาย เป็นสัญลักษณ์ของพลังงานทางจิตวิญญาณ สามารถเห็นความตายได้เกือบทุกมุมภายในวัด นอกจากนี้ภายในวัดยังมีหมอดูที่ทำนายวันตายที่แน่นอนชองเราได้
วัดปศุปฏินาถเป็นวัดฮินดูที่เก่าแก่ที่สุดในกาฐมัณฑุ ซึ่งไม่ทราบแน่นอนว่าสร้างครั้งแรกเมื่อใด มีการกล่าวถึงการมีอยู่ของวัดแห่งนี้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4 รวมถึงตำนานมากมายที่กล่าวถึงที่มาของการกำเนิดวัดอโลกปศุปฏินาถ แต่วัดที่มีรูปสถาปัตยกรรมแบบปัจจุบันสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1692 โดยมีองค์เทพปศุปติ มีความหมายว่า “องค์เทพแห่งสัตว์ทั้งหลาย” ซึ่งเป็นอวตารขององค์ศิวมหาเทพ โดยภายในเจดีย์ที่ประดับอย่างสวยงามเป็นที่ประดิษฐานของศิวลึงค์
ตำนานหนึ่งกล่าวว่าองค์ศิวมหาเทพและพระแม่ปารวตีที่อวตารเป็นละมั่งในป่าทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำบัคมาติ ต่อมาเหล่าทวยเทพตามจับทั้งสองพระองค์ หลังถูกจับได้ก็บังคับให้กลายร่างกลับมาเป็นองค์เทพอีกครั้ง โดยเขาละมั่งที่หักถูกไปนำบูชาแทนศิวลึงค์และถูกฝังและสูญหายไปในเวลาต่อมา เวลาล่วงเลยผ่านมาหลายศตวรรษมีคนเลี้ยงวัวได้เห็นวัวของเขากำลังเอาน้ำนมรดแผ่นดินซึ่งเขาก็ได้ไปขุดดินบริเวณดังกล่าว เขาได้พบกัยศิวลึงค์ศักดิ์ขององค์เทพปศุปฏินาถ
อีกตำนานที่กล่าวโดย โกปาลราช อโลกวาต ว่าวัดนี้สร้างโดยพระจันทเทวะ กษัตริย์แห่งลิจฉวี
ขณะที่พงศาวดารอีกฉบับหนึ่งกล่าวว่าวัดปศุปฏินาถสร้างขึ้นเป็นเทวลัยทรงศิวลึงค์ ก่อนที่กษัตริย์สุภัสปะ เทวะ แห่งลิจฉวีจะสร้างวิหารปศุปฎินาถสูงห้าชั้นขึ้น ณ ที่แห่งนี้ ต่อมาวัดต้องได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ และสร้างใหม่ในยุคกลางของเอเชียใต้โดยกษัตริย์ศิวเทพ ในศตวรรษที่ 11 และมีการต่อเติมหลังคาเข้าในสมัยกษัตริย์อนันตะ มัลละ ในศตวรรษที่ 13 เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อเดือนเมษายน 2015 บริเวณโดยรอบวัดปศุปฏินาถได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด แต่บริเวรภายในวัดและวิหารศักดิ์สิทธิ์กลับไม่ได้รับความเสียหาย
สถาปัตยกรรม Architecture
ตัววิหารหลักสร้างด้วยสถาปัตยกรรมทรงเจดีย์แบบเนปาล หลังคาสองชั้นทำจากทองแดงปิดทอง ตัววิหารตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส สูงจากฐานถึงยอด 23 เมตร มีประตูหลักสี่บานปิดด้วยแผ่นเงินทั้งหมด วัดนี้มียอดทองคำ ภายในมี ครรภคฤหะ หรือ โถงครรภ์ ซึ่งเป็นห้องบูชาด้านในสุดสองโถง โดยโถงด้านในเป็นที่ประดิษฐานของเทวรูป และห้องศักดิ์สิทธิ์ด้านนอกเป็นพื้นที่เปิดโล่งคล้ายทางเดิน
องค์เทพ Deity
เทวรูปหลักเป็นหิน มุขลึงค์ Mukhalinga สูง 1 เมตร ตั้งอยู่บนฐานโยนีเงิน รัดรอบด้วยพยานาคเงิน ที่ลึงค์มีพระพักตร์ขององค์เทพ 4 ทิศ ซึ่งเป็นตัวแทนพระศิวะในด้านต่างๆ เป็นมุขลึงค์ที่ไม่เหมือนกับศิวลึงค์อื่นๆ ในเนปาลและอินเดีย โดยลึงค์นี้จะห่มด้วยวาสตรัม (ผ้าคลุม) สีทองเสมอ ยกเง้นในช่วง พิธีอภิเษก ซึ่งเป็นอาบลึงค์ด้วยน้ำนม โยเกิร์ต เนยกรี น้ำผึ้ง ปัจมฤต (อาหาร 5 อย่าง) ซึ่งจะทำผ่านนักบวชเท่านั้น
ความสำคัญของวัดปศุปฏินาถ
บอกให้รู้ว่า การเกิด การตาย และเรื่องเพศ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต
โดยแนวคิดของฮินดูโบราณกล่าวว่า ไม่ควรกลัวความตาย บริเวณใกล้วัดจึงมีสถานที่เผาศพมากมาย และไม่ควรหัวเราะเยาะเรื่องเพศเพราะเป็นเรื่องวิถีชีวิต จึงมีงานศิลปะที่เย้ายวนใจบนหลังคาวัด
วัดปศุปฎินาถเป็นหนึ่งในชโยติลึงค์เทวสถาน
ตามตำนานองค์ศิวเทพได้แสดงตนเป็นหลักแห่งแสงที่ส่องลงมายังโลก และจโยติลึงค์เป็นตำแหน่งที่แสงของพระศิวะสัมผัสโลก โดยทั่วโลกมีจโยติลึงค์เทวสถานทั้งหมดสิบสองแห่ง แต่ละแห่งเป็นศิวมันธีร์ และวัดปศุปฏินาถในกรุงกาฐมัณฑุถือเป็นหนึ่งในสิบสองสถานที่แสวงบุญอันบริสุทธิ์อย่างเหลือเชื่อ
ความรอดหลังเสียชีวิต
เชื่อกันว่าวัดปศุปฏินาถแห่งนี้จะนำความรอดจากบาปของวิญญาณที่ได้ก่อขึ้น ระหว่างมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ การได้อยู่วัดนี้ก่อนสิ้นลมหายใจหรือได้รับการเผาศพที่วัดนี้จะนำไปสู่ทางรอดของวิญญาณในภพหน้า