กรุ๊ปเหมาตุรกี : เจาะลึกคัปปาโดเกีย Ep.2
หลายคนชอบประวัติศาสตร์ เมื่อจะจัด กรุ๊ปเหมาตุรกี ทั้งทีก็อยากศึกษาความเป็นมาของเมืองนั้นๆ อย่างละเอียด ในบทความเกี่ยวกับประเทศตุรกี และคัปปาโดเกีย Ep. นี้ ก็ขอจัดเต็มเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และความเป็นมาของคัปปาโดเกียให้แฟนคลับได้ชื่นใจสักหน่อย
ประวัติดินแดนคัปปาโดเกีย (History of Cappadocia)
มีการขุดค้นพบเครื่องมือและเครื่องปั้นดินเผาในยุคหินใหม่ในคัปปาโดเกีย ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงการปรากฏตัวของมนุษย์ในยุคแรกๆ ของภูมิภาคนี้ โดยซากเมืองคาเนส (Kanesh) ที่อายุเก่าแก่ย้อนหลังไปไกลถึง 3,000 ปี ก่อนคริสตกาล เป็นหนึ่งในหลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับชาวฮิตไทต์-อัสซีเรีย ที่ถูกค้นพบในตุรเกียที่เมืองกึลเทเป้ (Kültepe)
ในช่วงปลายยุคสำริด คัปปาโดเกียถูกเรียกว่า ฮัตติ (Hatti) เป็นถิ่นอาศัยของชาวฮิตไทต์ซึ่งเป็นชาวอินโด-ยูโรเปียนกลุ่มหนึ่ง ที่เดินทางเข้ามาตั้งรกรากและสร้างจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่บนคาบสมุทรอานาโตเลียนโบราณ ที่มีภูมิประเทศที่ราบสูงภูเขาไฟเต็มไปด้วยหินบะซอลต์เนื้อนุ่มอันกว้างใหญ่ไพศาล โดยจักรวรรดิฮิตไทต์ (Hittites Empire) เรืองอำนาจอยู่ระหว่างปี 1600-1180 ก่อนคริสตกาล มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่ ฮัตตูซ่า (Hattusa) สาเหตุความเจริญรุ่งเรืองนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากชาวฮิตไทต์สามารถผลิตสินค้าประเภทเหล็กขั้นสูงได้ ในขณะที่ชนชาติอื่นๆ ยังคงใช้เครื่องสำริดในวิถีชีวิต และในยุคฮิตไทต์นี้เองก็ได้เกิดสนธิสัญญาสันติภาพครั้งแรกของโลกในปี 1274 ก่อนคริสตกาล เมื่อจักรวรรดิฮิตไทต์ที่เกิดความขัดแย้งและรบพุ่งกับอียิปต์ใน สมรภูมิคาเดส Battle of Kadesh ( ปัจจุบันอยู่ในซีเรีย) ต่อเนื่องยาวนานเรื่องเส้นทางการค้า จนท้ายสุดทั้งสองมหาอาณาจักรได้หันมาสงบศึกระหว่างกัน โดยมีการแลกเปลี่ยนเชลยศึกของกันและกัน เปิดความสัมพันธ์ทางการค้าและแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการเกษตร เพื่อช่วยปรับปรุงชีวิตของผู้คนของทั้งสองมหาอาณาจักรให้ดีขึ้น
หลังการเสื่อมถอยของอำนาจทั้งฮิตไทต์และอียิปต์ และการขึ้นมาของผู้เล่นใหม่จากดินแดนเมโสโปเตเมียอย่างอาณาจักรอัสซีเรีย ได้เข้าพิชิตอาณาจักรเฮอร์เรียนและมิทันนี่ Hurria & Mitanni Kingdom (ปัจจุบันอยู่ในอาร์เมเนีย) สำเร็จ แม้มหาอาณาจักรฮิตไทต์ที่เป็นชาวอินโด-ยูโรเปียนเหมือนกัน ที่มีอาณาเขตถัดจากฮูเรียนและมิทันนี่จะส่งกำลังทหารมาร่วมรบก็ตาม ต่อมาอัสซีเรียได้กลายเป็นภัยคุกคามเส้นทางการค้าของชาวฮิตไทต์ในที่สุด และเปิดศึกพิชิตดินแดนต่างๆ ของฮิตไทต์ทุกทิศทุกทางทั้งบนบกและในทะเล รุกคืบผนวกดินแดนต่างๆ ทางตะวันออกเข้ามาในดินแดนอานาโตเลียนเรื่อย ๆ
ในเวลาเดียวกันนั้นอาณาจักรลิเดีย (Lydia Kingdom) ที่ถือกำเนิดขึ้นทางทิศตะวันตก ซึ่งมีศูนย์กลางปกครองอยู่ที่เมืองซาลิหลิ (Salihli) ห่างจากเมืองทรอยม้าไม้ที่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกอีกราว 120 กิโลเมตร ในศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล ก็ได้รุกคืบผนวกดินแดนจากทางตะวันตก โชคร้ายกองทัพของฮิตไทต์พ่ายแพ้ต่อกองทัพอาณาจักรลิเดีย ทำให้จักรวรรดิฮิตไทต์สูญหายไปจากดินแดนอานาโตเลีย และคัปปาโดเกียในเวลานั้นก็ได้กลายเป็นดินแดนปกครองปกครองอิสระของเหล่าขุนศึกของลิเดียที่อาศัยอยู่ในป้อมปราการที่แข็งแรง ปกครองคนท้องถิ่นเยี่ยงทาสต่างชาติ
ต่อมาดินแดนคัปปาโดเกียได้ตกอยู่ภายในปกครองของราชวงศ์เปอร์เซียนของจักรพรรดิดาริอุสมหาราช (Darius the Great) โดยกลายเป็นจังหวัดหนึ่งของจักรวรรดิอะเคเมนิด ซึ่งชื่อของ “คัปปาโดเกีย” ได้ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์โลก โดยถูกกล่าวถึงเมื่อนักบวชชาวเปอร์เซียนได้ครอบงำขุนนางขุนศึกศักดินาของคัปปาโดเกียอย่างเบ็ดเสร็จ ผ่านศาสนาโซโรแอสเตอร์ของชาวเปอร์เซียนที่เป็นที่นับถืออย่างแพร่หลายทั่วภูมิภาคอนาโตเลียน ขณะเดียวกันภูมิประเทศของคัปปาโดเกียก็เป็นพื้นที่ภูเขาไฟที่แห้งแล้งทุรกันดาร ทำการเกษตรก็ให้ผลผลิตไม่ได้มากมาย ทำให้คัปปาโดเกียในเวลานั้นเป็นดินแดนด้อยพัฒนา ไม่ได้รับความสนใจ และมีเมืองสำคัญเพียงไม่กี่เมืองเท่านั้น
ราชอาณาจักรคัปปาโดเกีย (Kingdom of Cappadocia)
หลังการล่มสลายของจักรวรรดิเปอร์เซียน อะเล็กซานเดอร์มหาราชได้พยายามเข้าพิชิตและปกครองพื้นที่อนาโตเลียน โดยมอบอำนาจการปกครองไว้กับ นายพลเปอร์ดิคคัส (Perdiccus General) แต่ อาริอาเรธส์ ที่ 1 (Ariarathes I) ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการเปอร์เซียน (Satrap) คนสุดท้ายของอะเคเมนิด ได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์แห่งคัปปาโดเกียในปี 332 ก่อนคริสตกาล พยายามต่อต้านการรุกรานของกองทัพมาซิโดเนีย ร่วมกับชาวอะเคเมนิดเดิมที่ได้เข้ามาตั้งรกรากและกลายเป็นบรรพบุรุษของราชอาณาจักรคัปปาโดเกีย
กษัตริย์อาริอาเรธส์ ที่ 1 ปกครองราชอาณาจักรคัปปาโดเกียอยู่ 10 ปี อาณาจักรของพระองค์ได้ขยายดินแดนจากพื้นที่ตอนกลางของประเทศตุรเกียในปัจจุบัน ไปจรดริมฝั่งทะเลดำทางตอนเหนือ แต่ในท้ายสุดพระองค์ก็ถูกนายพลเปอร์ดิคคัสแห่งมาซิโดเนียจับได้ และประหารชีวิตโดยการตรึงกางเขนในปี 322 ก่อนคริสตกาล ส่งผลให้ราชอาณาจักรคัปปาโดเกียต้องล่มสลายลงชั่วคราว อาณาเขตต่างๆ ของราชอาณาจักรคัปปาโดเกีย ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิมาซิโดเนียของอะเล็กซานเดอร์มหาราช ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของนายพลเปอร์ดิคคัสในฐานะข้าหลวงใหญ่แห่งมาซีโดเนีย
การสิ้นพระชนม์ของอะเล็กซานเดอร์มหาราชในปี 323 ก่อนคริสตกาลที่นครบาบิโลน ทำให้มหาอาณาจักรมาซิโดเนียตกอยู่ในความวุ่นวาย เกิดการแย่งชิงอำนาจกัน ท้ายสุดมหาอาณาจักรมาซิโดเนียต้องแตกของเป็นเสี่ยงๆ และคัปปาโดเกียก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองราชวงศ์เซลิวสิดต่อมา แต่ชนชั้นสูงในท้องถิ่นชาวเปอร์เซียที่สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์อาริอาเรธส์ก็ยังคงปกครองต่อไป และศาสนาโซโรแอสเตอร์ของชาวเปอร์เซียยังคงสยึดถือปฏิบัติอยู่
กรุ๊ปเหมาตุรกี
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช
กรุ๊ปเหมาตุรกี
คัปปาโดเกียดินแดนอันรุ่งเรืองส่วนหนึ่งของอนาโตเลีย
จังหวัดโรมันและไบแซนไทน์ (Roman and Byzantine province)
จากการที่กษัตริย์มิธริดาเตส ที่ 1 ได้แยกคัปปาโดเกียตอนเหนือออกจากราชอาณาจักรคัปปาโดเกียซึ่งปกครองโดยชาวเปอร์เซีย และพยายามผนวกอาณาเขตคัปปาโดเกียทางใต้ตลอดเวลา และขณะเดียวกันทางตะวันออกกองทัพของอาณาจักรอาร์เมเนียนก็ได้เข้ารุกรานดินแดนคัปปาโดเกีย ประกอบกับกองทัพกรุงโรมได้รับชัยชนะที่สมรภูมิแม็กเนเซีย Battle of Magnesia (เมืองเมนิซ่า (Manisa) ในปัจจุบัน ห่างจากเมืองอิซเมียร์ (Izmir) ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 40 กิโลเมตร) เมื่อปี 190 ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นสงครามระหว่างโรมันกับเซลิวสิด
ผลของสงครามที่โรมันมีชัยเหนือเซลิวสิด ทำให้ราชอาณาจักรคัปปาโดเกียหันมาสวามิภักดิ์กับโรมันในฐานะรัฐในอารักขา เพื่อช่วยเหลือและต่อต้านการรุกรานของพวกปอนตุสและอาร์เมเนียน จนกระทั่งคัปปาโดเกียถูกผนวกเป็นจังหวัดหนึ่งของโรมันและไบแซนไทน์ โดยจักรพรรดิไทเบริอุสในปี ค.ศ. 17 มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองซีซาเรียหรือมาซาก้า (เมืองคายเซหลิ (Kayseri) ในปัจจุบัน) ทำให้คัปปาโดเกียกลายเป็นดินแดนของชาวคริสต์ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิไบแซนไทน์ไปในที่สุด
ในปี ค.ศ. 70 จักรพรรดิเวสปาเซียนแห่งจักรวรรดิโรมัน ได้นำคัปปาโดเกียผนวกรวมกับพวกอาร์เมเนีย ไมเนอร์(Armenia Minor) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของราชอาณาจักรอาร์เมเนียโบราณ เพื่อสร้างเป็นจังหวัดกันชนซึ่งต่อมาได้กลายเป็นภาคตะวันออกของจักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือไบแซนไทน์
ในศตวรรษที่ 5 คัปปาโดเกียถูกโจมตีโดยกองทัพจักรวรรดิเปอร์เซียซาสซาเนียน (Sassanian Empire) ในปี ค.ศ. 611 ซึ่งได้ทำลายเมืองซีซาเรีย และอีกครั้งเมื่อพวกอาหรับเข้ารุกรานและปล้นสะดมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ในศตวรรษที่ 7-10 ทำให้ชาวคัปปาโดเกียต้องสร้างอุโมงค์และเครือข่ายถ้ำขนาดใหญ่เพื่อใช้หลบภัย เช่น เมืองใต้ดินคายมักคลิ
คัปปาโดเกียมีช่วงเวลาแห่งความเจริญรุ่งเรืองในศตวรรษที่ 10-11 ซึ่งมีการสร้างโบสถ์และอารามที่เจาะเข้าไปในภูเขาหิน ซึ่งได้รับการตกแต่งอย่างวิจิตรหรูหรางดงาม ต่อมาจักรวรรดิไบแซนไทน์ต้องสูญเสียคัปปาโดเกียไปอย่างไม่มีวันกลับ เมื่อกองทัพไบแซนไทน์พ่ายแพ้ต่อกองทัพเติร์กเซลจุค (Seljuk Empire) ในยุทธการมานซิเคิร์ต Battle of Manzikert (เมืองมาลาซเกิร์ต ในปัจจุบัน) ในปี ค.ศ. 1071
กรุ๊ปเหมาตุรกี
ความเป็นอยู่แบบเจาะถ้ำในเกอเรเม่ที่ชาวคริสต์ในอดีตใช้เป็นที่อยู่อาศัย และยังมีการสร้างโบสถ์ในถ้ำด้วย
กรุ๊ปเหมาตุรกี
ความเป็นอยู่ใต้ดินที่แบ่งเป็นสัดส่วนของที่อยู่อาศัย โบสถ์ทำพิธีทางศาสนา ส่วนทำอาหาร ส่วนของการทำถังหมักไวน์ และอื่นๆ
ชาวตุรเกียคัปปาโดเกีย (Turkiye Cappadocia)
หลังการมีชัยของจักรวรรดิเซลจุคในสมรภูมิมานซิเคิร์ต Battle of Manzikert ในปี ค.ศ. 1071 ทำให้ชาวเปอร์เซียนเติร์กเข้ามาตั้งรกรากในดินแดนอนาโตเลียและมีพลังอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คัปปาโดเกียกลายเป็นจุดพักและกระจายชาวเติร์กเข้าดินแดนอนาโตเลียนฝั่งตะวันตกอย่างช้าๆ และผู้คนท้องถิ่นเดิมบางส่วนที่นับถือศาสนาคริสต์และโซโรแอสเตอร์ที่บูชาไฟ ก็ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม โดยยังคงเหลือชาวกรีกคัปปาโดเกียที่ยังคงนับถือศาสนาคริสต์อยู่
ช่วงปลายศตวรรษที่ 12 จักรวรรดิเซลจุคอนาโตเลียนที่มีศูนย์กลางการปกครองที่เมืองคอนย่าในปัจจุบัน เริ่มเสื่อมโทรมและล่มสลายลงในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 13 และชาวเติร์กอนาโตเลียนเริ่มมีบทบาทมากขึ้นจนกลายเป็นจักรวรรดิออตโตมันที่ทรงพลังอำนาจในเวลาต่อมา
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง จักรวรรดิออตโตมันได้ล่มสลายกลายเป็นประเทศตุรกีสมัยใหม่ ทำให้คัปปาโดเกียได้ก่อตั้งเมืองเนฟเซเย็ซร์เป็นศูนย์กลางทางราชการแห่งใหม่ในศตวรรษที่ 18 ทำหน้าที่เป็นเมืองเอกของภูมิภาคจนถึงปัจจุบัน ชาวคัปปาโดเกียเชื้อสายกรีกได้เปลี่ยนมาใช้ภาษาตุรกี และหลังการก่อตั้งประเทศตุรกีชาวกรีกและชาวคริสต์แห่งคัปปาโดเกียได้ย้ายถิ่นออกไปตามนโยบายแลกเปลี่ยนคนต่างศาสนากลับสู่เมืองแม่กับประเทศกรีซที่ผู้คนนับถือศาสนาคริสต์ และชาวอาร์เมเนียก็ย้ายออกไปประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศอาร์เมเนีย และ อิสราเอล เป็นต้น ทำให้มีคนท้องถิ่นเพียงหยิบมือเท่านั้นที่ยังพูดภาษากรีกคัปปาโดเกียได้
คัปปาโดเกียปัจจุบัน (Cappadocia in the present day)
ปัจจุบัน “คัปปาโดเกีย” เป็นที่รู้จักอย่างมากมายในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตุรเกีย ซึ่งหมายถึงการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดเนฟเซเย็ชร์ (Nevşehir) คายเซหริ (Kayseri) อัคซาราย (Aksaray) และ นีเดะ (Niğde) และ อุทยานแห่งชาติเกอเรเม่และแหล่งหินแห่งคัปปาโดเกีย (Göreme National Park and the Rock Sites of Cappadocia) ซึ่งในปี ค.ศ. 1985 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก
โดยแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดีที่มีนักท่องเที่ยวเข้าชมมากที่สุดในกลุ่มจังหวัดนี้ คือ เมืองใต้ดินคายมักคลิ (Kaymakli) กับ เมืองใต้ดินเดรินกูยู (Derinkuyu) ในขณะที่แหล่งท่องเที่ยวบนดินที่สำคัญในคัปปาโดเกีย ได้แก่ เมืองเกอเรเม่ (Göreme) ,เมืองอือยึบ (Ürgüp), เมืองอุชิซาร์ (Uçhisar), หุบผาอึห์ลาร่า (Ihlara valley), หมู่บ้านซาลิเม่ (Selime village) เป็นต้น
กิจกรรมสำคัญสำหรับผู้มาเยือนคัปปาโดเกียควรลอง ได้แก่ ล่องบอลลูนร้อนลอยฟ้าชมทัศนียภาพของหุบผาแห่งคัปปาโดเกีย และการเดินเขาชมความงดงามของป่าหินและเมืองถ้ำในหุบเขาต่างๆ เช่น หุบเขาอึห์ลาร่า และ อารามถ้ำแห่งหุบเขาซาลิเม่ เป็นต้น
กรุ๊ปเหมาตุรกี
กิจกรรมขึ้นบอลลูนชมวิวเมืองคัปปาโดเกียที่อยู่ในโซนแท่งหินดูสวยงามและน่าตื่นตาตื่นใย
กรุ๊ปเหมาตุรกี
เหล่าโรงแรมห้องพักต่างๆที่อยู่ในเมืองคัปปาโดเกีย สร้างที่พักอยู่เกาะติดกับหน้าผาหินและทำธีมเป็นห้องพักในถ้ำเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ สร้างประสบการณ์การนอนพักในเมืองคัปปาโดเกียอย่างน่าจดจำ
เกอเรเม่ (Göreme)
เมื่อหุบเขาเกอเรเม่ ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางของแหล่งท่องเที่ยวทั้งหมดของคัปปาโดเกีย และเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น เมืองเกอเรเม่ เพื่อให้พร้องเสียงกับภูเขาประวัติศาสตร์ที่ใกล้เคียง ในสมัยโบราณเมืองแห่งนี้เคยถูกเรียกว่า “โคราม่า Korama, มาเตียน่า Matiana, มาคกัน Maccan, มาจัน Maçan และ อัฟซิลาร์ Avcilar” เป็นหนึ่งในชุมชนที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคคัปปาโดเกีย และเป็นศูนย์กลางของอารามนักบวชและฤาษีในคริสตวรรษที่ 3-12 ซึ่งถูกกล่าวถึงครั้งแรกในหนังสือที่เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 7 ชื่อ “งานของนักบุญเฮียรอน The doing of St. Hieron” ซึ่งเป็นนักบุญผู้พลีชีพในปี ค.ศ. 298 ที่ได้กล่าวว่า เมืองมาจันไม่มีปราการทางธรรมชาติในการช่วยปกป้องชุมชนที่พักอาศัยอยู่ภายใน ทำให้ได้รับความเดือนร้อนและสูญเสียผู้คนในชุมชนจากการโจมตีของเหล่าโจรอาหรับเปอร์เซียอยู่เสมอ
หลังสิ้นสุดของการโจมตีและปล้นสะดมของอาหรับเปอร์เซียในศตวรรษที่ 10-11 โบสถ์ภายในเมืองมาจันได้ถูกสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง และเมืองในวัยแรกเริ่มก็ถือกำเนิดขึ้นบริเวณริมฝั่งแม่น้ำในเวลาเดียวกัน ซึ่งมีการพบเสาของหลุมศพที่หลงเหลืออยู่สองต้น เป็นหลักฐานการตั้งถิ่นฐานในยุคก่อตั้งชุมชน มีโบสถ์ห้าแห่งในชุมชนเกอเรเม่ โบสถ์ใหญ่ที่สุดมีชื่อว่า ดูร์มุส เคอดิส (Durmus Kadir) เชื่อว่าถูกสร้างขึ้นราวศตวรรษที่ 6 หรือ 7 โดยเสาและแท่นทำพิธีได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี ในขณะที่โบสถ์อื่นๆ อย่างโบสถ์บิซีร์ฮาเน (Bezirhane) และโบสถ์โอตาฮาเน (Ortahane Church) นั้น ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 11 และโบสถ์ยูซุป คช (Yusuf Koç Church) ซึ่งเป็นโบสถ์ท้ายสุด ก็ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 11 ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมี โทคาลิ คิลิเซ่ (Tokali Kilise) ซึ่งเป็นโบสถ์ที่ตกแต่งอย่างหรูหรา มีตัวอย่างงานสถาปัตยกรรมที่หลงเหลือเพียงชิ้นเดียว ซึ่งเป็นต้นแบบของโบสถ์มาร์ ยาคุบ ใกล้กับเมืองมาร์ดิน ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ใกล้ชายแดนซีเรีย-ตุรกี หลังคาโดมของโบสถ์ตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบปูนเปียกเฟรสโก้ เล่าเรื่องราวเหตุการณ์การถูกตรึงกางเขนของพระเยซู ด้วยภาพที่ใช้สีน้ำเงินเป็นพื้นหลัง ซึ่งเป็นสีที่หายากและมีราคาสูงลิบลิ่ว
ไม่มีใครรู้ว่า เกอเรเม่ มีผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งแรกตั้งแต่เมื่อใด แต่รู้เพียงแต่ว่าเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานในยุคฮิตไทต์ ซึ่งอยู่ระหว่าง 1,800-1,200 ปีก่อนคริสตกาล ท่ามกลางอาณาจักรและจักรวรรดิที่เป็นคู่แข่งแย้งชิงโค่นล้มอำนาจกันอย่าง อาณาจักรฮูร์ริ-มิตานี่, จักรวรรดิฮิตไทต์, จักรวรรดิอัสซีเรียนใหม่, จักรวรรดิเปอร์เซียนอะคิเมนิด และจักรวรรดิกรีกเซลิวสิด ทำให้ชาวพื้นเมืองต้องขุดเจาะอุโมงค์เข้าไปในหินเพื่อหลบหนีภัยสงคราม ความวุ่นวายทางการเมือง และการปล้มสะดม ในยุคโรมันพื้นที่ดังกล่าวได้กลายเป็นชุมชนชาวคริสต์ที่ถอยห่างจากอำนาจการปกครองของกรุงโรม ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาหลักของภูมิภาคนี้ ซึ่งโบสถ์หินหลายแห่งที่พบเห็นในปัจจุบันเป็นประจักษ์พยานได้เป็นอย่างดี
ชุมชนเกอเรเม่ เป็นตัวอย่างที่ไม่มีที่ใดเทียบได้ในแง่ความกลมกลืนกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เป็นชุมชนโบราณที่ยังมีชีวิตที่ผู้คนยังคงอาศัยอยู่ในบ้านหิน ที่ให้ความเคารพอย่างสูงต่อโลกภูเขาไฟและประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เกอเรเม่ไม่เพียงมีแต่บ้านภายในภูเขาหินเท่านั้น แต่ยังมีร้านอาหารและโรงแรมในภูเขาหิน ที่ให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสกับความตื่นตาตื่นใจไปกับแนวเขตธรรมชาติที่น่ามหัศจรรย์ ภายในเมืองที่เต็มไปด้วยโขดหินสูงและปล่องนางฟ้าล้อมรอบ
อุทยานแห่งชาติเกอเรเม่และแหล่งหินแห่งคัปปาโดเกีย (Göreme National Park and the Rock Sites of Cappadocia)
แหล่งหินแห่งคัปปาโดเกียเป็นส่วนหนึ่งอุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติเกอเรเมี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก้ ในปี ค.ศ. 1985 ตั้งอยู่ในพื้นที่ของเม้าท์ ฮาซัน (Mount Hasan) และเม้าท์ ไอซ์เยส (Mount Erciyes) ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับแล้วและมีพื้นที่เกือบ 100 ตารางกิโลเมตร ในจังหวัดเนฟเซเย็ชร์ ตอนกลางของคาบสมุทรอนาโตเลีย ห่างจากเมืองเกอเรเม่ (Göreme) , อือยึบ (Ürgüp) และ เชอวูซิน (Çavuşin) ไม่มากนัก
อุทยานแห่งชาติและแหล่งหินแห่งคัปปาโดเกีย ภายในมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง เนินเขาสูง และหุบเขาที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟ เถ้าและลาวาร้อนระเบิดลอยออกจากปล่องมาทับถมกันหนา จนเป็นที่ราบเถ้าภูเขาไฟที่ทับถมเป็นชั้นหนา และแท่งหินบะซอลต์อ่อนทั่วบริเวณ ต่อมาได้ถูกน้ำที่เกิดจากการละลายของหิมะที่ปกคลุมในช่วงหน้าหนาว และกระแสลมที่พัดผ่านกัดเซาะตลอดหลายล้านปี จนกลายเป็นหน้าผาหลากสีที่เกิดจากดินตะกอนและแร่ธาตุในหลายชนิดทับถมกัน และแท่งหินที่มีรูปทรงคล้ายเห็ด เสาปิรามิด หรือ โขดเต้นท์หิน ตามแต่จินตนาการของผู้พบเห็น ซึ่งมีชื่อเรียกทั่วไปในหลายท้องถิ่นว่า โขดหินเต้นท์ (Tent Rock), ปล่องไฟนางฟ้า (Fairy Chimney), ปิรามิดดิน (Earth Pyramid) และ ฮูดู (Hoodoo) ซึ่งเป็นอีกชื่อเรียกตามความเชื่อทางจิตวิญญาณของชาวอเมริกาเหนือ
แหล่งหินแห่งคัปปาโดเกีย มีคุณลักษณะเป็นหินบะซอลต์อ่อนที่เกิดจากการเย็นตัวของลาวาไม่นานมากนัก ทำให้ง่ายต่อการขุดเจาะและทำอุโมงค์ และหลักฐานการสร้างศาสนสถานแรกๆ ในคัปปาโดเกีย สามารถสืบย้อนกลับไปได้ถึง 4 ศตวรรษ ซึ่งเป็นชุมชนเล็กๆ ของเหล่านักพรตที่ถึอปฏิบัติตามแนวทางของบาซิไลโยส เดอะ เกรท สังฆราชแห่งคายเซหริ โดยสกัดหินเป็นคูหาถ้ำสำหรับพักอาศัยและบำเพ็ญศีล ซึ่งต่อมาได้มีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งชุมชนใต้ดินเพื่อหลบลี้หนีภัยจากการโจมตีและปล้มสะดมของพวกเปอร์เซียและโจรอาหรับ
กรุ๊ปเหมาตุรกี
กรุ๊ปเหมาตุรกี
เมืองใต้ดินคายมักคลิ (Kaymakli Underground City)
เป็นเมืองใต้ดินที่มีนักท่องเที่ยวนิยมไปสัมผัสความมหัศจรรย์มากที่สุดในบรรดาเมืองใต้ดินแห่งคัปป้าโดเกียที่มีมากกว่า 40 แห่ง ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดเนฟเซเย็ชร์ราว 19 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเมืองเกอเรเม่ประมาณ 25 เมตร โดยได้รับการพัฒนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์ถ้ำธรรมชาติใต้ดิน เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมในปี ค.ศ. 1964
เมืองคายมักคลิ มีชื่อดั้งเดิมว่า เอเนกุป (Enegup) สร้างขึ้นโดยชาวฟริเจี่ยน Phrygian ซึ่งเป็นชาวอินโด-ยุโรเปียนในศตวรรษที่ 8-7 ก่อนคริสตกาล ที่หลบลี้หนีภัยจากกองทัพโรมันที่เข้ามารุกราน ได้เจาะภูเขาหินลาวาอ่อน ที่เกิดจากการเย็นตัวของลาวาไม่นานมาก มีหลักฐานอ้างว่าภาษากรีกถูกใช้แทนที่ภาษาฟริเจียนดั้งเดิมในยุคโรมันไบแซนไทน์ ผู้คนเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ มีการขยายถ้ำโดยเพิ่มห้องบูชามิสซาและมีคำจารึกเป็นภาษากรีก ซึ่งมักเรียกกันว่า วัฒนธรรมกรีกคัปปาโดเกียน Cappadocian Greek culture
ต่อมาเมืองได้ขยายตัวกลายเป็นเมืองปราการหน้าด่าน หรือ ซิต้าเดล Citadel เพื่อป้องกันการรุกรานของชาวอาหรับมุสลิม ในสงครามอาหรับ-ไบแซนไทน์ ที่กินเวลายาวนานถึงสี่ศตวรรษ ระหว่าง ปี ค.ศ. 780-1180 เมืองได้มีการเจาะอุโมงค์หลายกิโลเมตรเชื่อมต่อกับเมืองใต้ดินอื่น ๆ อย่างเมืองเดรินกูยู และมีการค้นพบสิ่งประดิษฐ์บางอย่างที่ใช้ในการตั้งถิ่นฐานใต้ดินในยุคไบแซนไทน์ตอนกลาง ระหว่างศตวรรษที่ 5 – 10 และชาวคริสต์ในดินแดนอนาโตเลียนได้ใช้เมืองใต้ดินเหล่านี้ ปกป้องการรุกรานชองกองทัพข่านติมูร์มองโกลมุสลิมจากเอเชียกลางในศตวรรษที่ 14
หลังการล่มสลายของจักรวรรดิไบแซนไทน์ ให้กับกองทัพเติร์กเซลจุกจากดินแดนเปอร์เซีย เมืองใต้ดินต่างๆ บนผืนแผ่นดินอนาโตเลียถูกใช้เป็นที่หลบลี้ภัยจากการกดขี่ข่มเหงของผู้ปกครองมุสลิมตุรกี โดยในช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นยุคการปกครองของมุสลิมออตโตมัน ผู้อาศัยในเมืองถ้ำเหล่านี้ถูกเรียกว่า “รึม Rûm” ซึ่งมีความหมายว่า ชาวกรีก ชาวโรมันตะวันออก หรือชาวคริสเตียน
เหตุการณ์สังหารหมู่ชาวคริสต์อาร์เมเนียราว 20,000-25,000 คน โดยรัฐบาลมุสลิมออตโตมัน “ยัง เติร์ก Young Turk”ทำให้ชาวคริสต์อาร์เมเนียบางส่วนต้องหลบหนีออกนอกประเทศ และบางส่วนก็หลบนี้มาอาศัยในเมืองใต้ดินเหล่านี้ และเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ประเทศอาร์เมเนียที่ได้รับเอกราชจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตรัสเซีย ปิดตายชายแดนอาร์เมเนีย-ตุรกี ไม่คบค้าสมาคมกันจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นแม้แหล่งท่องเที่ยวในประเทศตุรกีจะไม่ห่างจากแหล่งท่องเที่ยวในประเทศอาร์เมเนียไม่มาก และมีความเชื่อมโยงทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมก็ไม่สามารถข้ามฝั่งไปท่องเที่ยวได้ในเส้นทางเดียวกันได้
เมืองใต้ดินคายมักคลิ เป็นที่พักอาศัยของผู้ลี้ภัยทางศาสนาและชาติพันธุ์หลายหมื่นคน ทำให้มีการขุดเครือข่ายถ้ำลึกลงไปกว่า 10 ชั้น ลึกราว 85 เมตร และความยาวอุโมงค์มีระยะทางรวมกว่า 80 กิโลเมตร ภายในเครือข่ายถ้ำใต้ดินได้รับการออกแบบให้มีระบบระบายอากาศที่ดีเยี่ยม แม้จะอยู่ลึกลงไปกว่า 80 เมตร ก็ไม่รู้สึกอึดอัด อากาศถ่ายเทสะดวก ทุกห้องของแต่ละชั้นเชื่อมต่อถึงกัน มีห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว โรงมักบ่มไวน์และเบียร์ ที่เลี้ยงสัตว์เล็กๆ เพื่อเป็นอาหารอย่างเป็ดและไก่ และห้องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น โรงเรียน โบสถ์ที่มีถึง 825 คูหา ที่ฝังศพ และบ่อสำรองน้ำ เป็นต้น ซึ่งรวมถึงทางเข้าออกฉุกเฉิน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาในการเอาชีวิตรอดมาอย่างยาวนานกว่า 2,000 ปี โดยปราศจากเครื่องจักรเครื่องทุ่นแรงสมัยใหม่ใด ๆ และมีหลักฐานที่ชี้ว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ในเครือข่ายถ้ำนี้นานๆ ทำให้เกิดโรคเมโซเธลิโอม่า ซึ่งเป็นมะเร็งรูปแบบหนึ่งที่เกิดจากการหายใจเอาใยหินเอริโอไนต์ ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่พบได้ทั่วไปในเถ้าลาวาหิน
หลังการขับไล่ชาวคริสต์อาร์เมเนียน หรือ รึม ออกจากภูมิภาคนี้ไปแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งย้ายไปยังอาร์เมเนียหลังการก่อตั้งประเทศสำเร็จ และส่วนหนึ่งเกิดจากการแลกเปลี่ยนชาวกรีกกลับไปยังประเทศกรีซและชาวตุรกีในกรีซกลับมาอยู่ที่ประเทศตุรกี ทำให้เมืองใต้ดินเกือบทั้งหมดถูกทิ้งร้าง จนได้รับการฟื้นฟูเป็นพิพิธภัณฑ์และแหล่งท่องเที่ยว ทำให้เมืองใต้ดินเหล่านี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
กรุ๊ปเหมาตุรกี
กรุ๊ปเหมาตุรกี