ทัวร์อียิปต์ : วิหารลักซอร์ Luxor Temple
ทัวร์อียิปต์ : วิหารลักซอร์ Luxor Temple
เป็นวิหารอียิปต์โบราณขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไนล์ ภายในเมืองธีบส์โบราณที่ยังมีชีวิต คำว่า ธีบส์ ในภาษาอียิปต์โบราณ มีความหมายว่า “เมืองร้อยประตู” และเป็นเมืองหลวงของอียิปต์โบราณตั้งแต่ยุคราชวงศ์ที่ 12 (1991 ปีก่อนคริสตกาล) จนถึงยุคอาณาจักรใหม่ (1352 ปีก่อนคริสตกาล) ที่ปัจจุบันเรียกว่า “ลักซอร์ Luxor” วิหารสร้างขึ้นประมาณ 1,400 ปีก่อนคริสตกาล ในภาษาอียิปต์เรียกว่า “ไอเพต รีซิต Ipet resyt” มีความหมายว่า “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางใต้” เป็นหนึ่งในสองวิหารหลักบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไนล์ นอกจากวิหารแห่งคาร์นัค และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก้ในปี ค.ศ. 1979
วิหารลักซอร์ต่างจากวิหารอื่นๆ ในธีบส์ ตรงที่วิหารลักซอร์ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่เทพเจ้าในศาสนาอียิปต์โบราณหรือฟาโรห์ที่สวรรคตไปแล้ว แต่วิหารแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อการรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์ ซึ่งเป็นสถานที่สวมมงกุฎเพื่อการราชาภิเษกของเหล่าฟาโรห์แห่งอียิปต์หลายพระองค์ และวิหารลักซอร์แห่งนี้เชื่อมต่อกับวิหารแห่งคาร์นัคด้วยทางเดิน 2.3 กม. ที่ขนาบด้วยซากปรักหักพังของสฟิงซ์
วิหารหลักและวิหารน้อย สร้างโดยฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 แห่งราชวงศ์ที่ 18 (ครองราชย์ระหว่าง 1390-1352 ปีก่อนคริสตกาล) และสร้างเสร็จโดยฟาโรห์ตุตังคามุน (ครองราชย์ระหว่าง 1336-1327 ปีก่อนคริสตกาล) และฟาโรห์โฮเรมเฮบ (ครองราชย์ระหว่าง 1323-1295 ปีก่อนคริสตกาล) จากนั้นต่อเติมเพิ่มโดยฟาโรห์รามเสสที่ 2 (ครองราชย์ 1279-1213 ปีก่อนคริสตกาล) ด้านหลังเป็นวิหารน้อยหินแกรนิตที่สร้างอุทิศแด่อเล็กซานเดอร์มหาราช (ครองราชย์ระหว่างปี 332-305 ปีก่อนคริสตกาล)
ในยุคโรมัน วิหารหลักและบริเวรณโดยรอบ เป็นป้อมปราการและเป็นที่ตั้งของรัฐบาลโรมัน วิหารน้อยภายในวิหารลักซอร์เดิมอุทิศสร้างแด่ “เทพีมุต Mut goddess” แต่ถูกเปลี่ยนเป็นวิหารน้อยของลัทธิเตตราชี่ และโถงไฮโปสโตล์ของวิหารถูกดัดแปลงกลายเป็นโบสถ์คริสต์คอปติกในเวลาต่อมา ซึ่งสามารถมองเห็นซากโบสถ์คอปติกอีกแห่งได้ทางทิศตะวันตก
วิหารลักซอร์เคยถูกฝังอยู่ใต้ถนนและบ้านภายในเมืองลักซอร์ และถูก มัสยิดซูฟี ชาฆ ยุซูฟ อาบู อัล-ฮาจจาจ สร้างทับอยู่ อย่างไรก็ตามมัสยิดแห่งนี้ยังได้รับการอนุรักษ์อย่างระมัดระวัง หลังวิหารลักซอร์เปิดออกและกลายเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญของพื้นที่
เสาโอเบลิสก์ Obelisks of Luxor Temple
เสาหินแกรนิตสีชมพูขนาด 25 ม. สองต้น ที่สร้างโดยฟาโรห์รามเสส ครั้งหนึ่งเคยตั้งตระหง่านอยู่หน้าประตู แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงต้นเดียว ในขณะที่อีกต้น (ตัดไปเฉพาะเสา) ตั้งอยู่ลาน “พลาซ เดอ ลา คงคอรดฺ Place De La Concorde” กลางกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยที่ฐานเสามีรูปสลักลิงบาบูนศักดิ์สิทธิ์สี่ตัว และชื่อของฟาโรห์รามเสสปรากฎอยู่ในแต่ละด้านของเสาโอเบลิสก์แท่งนี้
หินแกรนิตที่ใช้ทำเสาโอเบลิสก์ถูกขุดขึ้นมาจากทางตอนใต้ของอียิปต์ใกล้กับเมืองโบราณสเวเนตต์ (อัสวานปัจจุบัน) ในยุคโบราณเมืองแห่งนี้มีชื่อเสียงในด้านเหมืองหิน โดยเฉพาะหินแกรนิตสีแดง สีเทา และสีดำ ใช้สร้างรูปสลักหินขนาดใหญ่และวิหารน้อยที่พบได้ทั่วประเทศอียิปต์
เสาโอเบลิสก์เป็นที่รู้จักในนาม “เข็มของคลีโอพัตรา” ตั้งอยู่ทั้งในกรุงลอนดอน ปารีส และนิวยอร์ก ล้วนไปจากเมืองสเวนเนตต์ โดยเสาโอเบลิสก์ในลอนดอนและนิวยอร์กเป็นของฟาโรห์ทุตโมสที่ 3
เหมืองหินโบราณเหล่านี้ยังคงมีหินอยู่ในปัจจุบัน และมีความยาวประมาณ 6.4 กม. มีการพบเครื่องมือของเหมืองหินพร้อมกับคำจารึกมากมายที่อธิบายถึงโครงการต่างๆ และวิธีการใช้งาน นอกจากนี้ยังมีเสาโอเบลิสก์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ โดยบางส่วนฝังอยู่ในหิน หากสร้างได้เสร็จน่าจะกลายเป็นเสาโอเบลิสก์ที่ใหญ่ที่สุดตลอดกาล มีความยาว42 ม. และหนักเกือบ 1,200 ตัน เนื่องจากเสาโอเบลิสก์ได้หักแตกระหว่างการขุด และไม่เคยหลุดออกจากหินในเหมืองหลายแห่ง ทำให้เราเข้าใจถึงวิธีการที่ใช้ในการสร้างมัน
วิธีการสร้างเสาโอเบลิสก์ How to make an Obelisk
ในการสร้างเสาโอเบลิสก์ สถาปนิกจำเป็นต้องเลือกแหล่งหินที่ไม่มีข้อตำหนิ และทำเครื่องหมายรูปร่างของเสาไว้ จากนั้นใช้ค้อน หินโดเลไรต์ ที่แข็งกว่า ทุบสกัดหินเป็นร่องตามแนวที่ทำไว้ แล้วสกัดแท่งหินออกจากแหล่งด้วยคนจำนวนมาก ซึ่งเป็นการทำงานที่ยากลำบากและใช้เวลาต่อเนื่องหลายเดือน
เมื่อสกัดแท่งหินออกจากก้อนหินแล้ว เสาโอเบลิสก์ก็ถูกลากไปยังแม่น้ำ โดยมีการขุดคลองและวางเสาโอเบลิสก์ไว้บนคานไม้เหนือน้ำ เรือบรรทุกเสาโอเบลิสก์จะถูกถ่วงด้วยหินหนักใต้ท้องเรือ เมื่อเรือลอดเข้าไปรับเสาโอเบลิสก์ในตำแหน่งเรียบร้อย ก็นำหินออก เรือก็จะลอยขึ้น ยกเสาโอเบลิสก์ขึ้น จากนั้นเรือก็จะถูกลากไปตามแม่น้ำไปยังสถานที่ก่อสร้าง
ประตูทางเข้าของฟาโรห์รามเสสที่ 2 The Pylon of Ramses II
ในช่วงทศวรรษที่ 1880 หลังการพบเสาไพล่อนครึ่งหนึ่งที่ถูกฝังอยู่ในทราย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประตูทางเข้าวิหารลักซอร์ และได้รับการขุดแต่งบูรณะจนเผยให้เห็นหอคอยทางเข้าคู่ สูง 24 เมตร กว้าง 65 เมตร ที่มีภาพแกะสลักนูนต่ำและนูนสูงของฟาโรห์รามเสสในสมรภูมิรบที่คาเดศ
ที่ด้านหน้าของหอคอยฝั่งตะวันตก (ขวา) เป็นภาพฟาโรห์พร้อมที่ปรึกษาและนายพล และหอคอยทางฝั่งตะวันออก (ซ้าย) เป็นภาพการต่อสู้ของฟาโรห์รามเสสขับรถม้าของพระองค์ เหนือศัตรูที่บางส่วนได้เสียชีวิตไปแล้วและบางส่วนกำลังจะเสียชีวิต
รูปสลักขนาดมหึมาของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ประดับนั่งเฝ้าประตูใหญ่ ขนาบข้างด้วยรูปสลักกษัตริย์สี่องค์ในท่ายืน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นของที่ตั้งเสาโอเบลิสก์คู่ สูง 25 ม. ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงต้นเดียว ส่วนอีกต้นถูกนำไปตั้งอยู่ที่ ลานพลาซ เดอ ลา คงคอรดฺ Place De La Concorde ในกรุงปารีส
ทางเดินเชื่อมระหว่างวิหารแห่งคานัคและวิหารลักซอร์ ยาว 2.3 กม. ตลอดทางเชื่อมมีรูปสลักสฟิงซ์ที่มีเศียรเป็นมนุษย์เรียงยาวกต่อกันตลอดสองฝั่งทางเดิน) ครั้งหนึ่งเคยถูกใช้งานปีละครั้งในเทศกาล ซึ่งมีภาพขององค์เทพอามุนดำเนินเสด็จจากวิหารแห่งคาร์นัค ไปเยี่ยมอาณาจักรทางใต้ของพระองค์ที่วิหารลักซอร์ ที่ซึ่งทำให้เทพอามุนได้กลายร่างเป็นองค์เทพมิน Min God เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์และการเก็บเกี่ยว
ลานแห่งฟาโรห์รามเสสที่ 2
เป็นลานยิ่งใหญ่ของฟาโรห์รามเสสที่ 2 มีความยาว 57 ม. กว้าง 51 ม. ล้อมรอบด้วยเสาสูงทรงปาปิรุสดอกตูม 14 ต้น ที่มุมทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของลาน มีแท่นสักการะของฟาโรห์ทุตโมสที่ 3 ตั้งอยู่ ในขณะที่ทางฝั่งใต้ของลานมีรูปสลักมหึมาของฟาโรห์รามเสสที่ 2 จำนวนหนึ่งยืนอยู่ และลานฝั่งตะวันออกบางส่วนได้เป็นเป็นพื้นที่ของมัสยิดซูฟี ชาฆ ยุซูฟ อาบู อัล-ฮาจจาจ ที่มาสร้างทับไว้
แนวระเบียงเสาแห่งฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3
เป็น แนวเสาระเบียง Colonnade ของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 ทรงปาปิรุสบาน สูง 16 จำนวน 7 คู่ รองรับขอบประตูทางเข้าขนาดมหึมา โดยมีภาพนูนต่ำบนผนังของห้องโถงที่ชื่อ ตุตังคามุน โฮเรมเฮบ เซติที่ 1 รามเสสที่ 2 และเซติที่ 2 โดยผนังของตุตังคามุนตั้งอยู่ฝั่งตะวันออก แต่ถูกลบฟาโรห์โฮเรมเฮบลบชื่อยุวฟาโรห์องค์นี้ออกและจารึกชื่อของพระองค์เข้าไป
แนวเสาโคโลนเนดของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 มีภาพสลักงานเฉลิมฉลององค์เทพอามุน ที่เกิดขึ้นประมาณกลางช่วงน้ำท่วม ที่กินระยะเวลาประมาณยี่สิบสี่วัน เรือศักดิ์สิทธิ์ของตรีเทพชาวธีบส์ Theban Triad จะถูกนำออกมาจากวิหารแห่งคาร์นักและเคลื่อนขบวนมายังวิหารลักซอร์ ซึ่งเป็นขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่เต็มไปด้วยนักดนตรี นักร่ายรำ นักบวช ทหาร และราชรถของฟาโรห์ พวกเขาจะได้รับการต้อนรับที่วิหารลักซอร์ โดยนักบวชหญิงพร้อมด้วยดอกไม้และเครื่องบูชา ต่อมาในตอนเย็นขบวนแห่เรือศักดิ์สิทธิ์จะเคลื่อนกลับสู่วิหารแห่งคาร์นัค
พิธีแห่เรือศักดิ์สิทธิ์นี้ยังคงถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน จะด้วยเหตุอื่นก็ตาม โดยในแต่ละปีในช่วงเทศกาล เรือศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกตั้งขบวนที่มัสยิดซูฟี ชาฆ ยุซูฟ อาบู อัล-ฮาจจาจ แล้วเคลื่อนไปตามถนนในเมืองลักซอร์แทน
ลานแห่งฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 Court of Amenhotep III
ลานแห่งฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 ยาว 45 ม. กว้าง 56 ม. มีเสาต้นปาปิรุสองแถวล้อมรอบสามด้าน โดยสุดทางด้านเหนือเป็นทางเข้าวิหาร ลานแห่งนี้นำไปสู่โถงไฮโปสไตล์ ซึ่งมีเสาต้นปาปิรุส 32 ต้น เรียงเป็นสี่แถวแปดต้นที่ด้านท้ายของโถงมีห้องเล็กๆ สี่ห้อง และโถงที่นำไปสู่ห้องประสูติซึ่งเป็นวิหารน้อยของอเล็กซานเดอร์มหาราชและห้องบูชาศักดิ์สิทธิ์
ถนนแห่งสฟิงซ์ Avenue of Sphinxes
เป็นถนนอียิปต์โบราณที่ครั้งหนึ่งเคยเชื่อมจากวิหารแห่งคาร์นัคทอดตรงมายังวิหารลักซอร์ มีระยะทาง 2.3 กม. ถนนเส้นนี้ถูกใช้ปีละครั้งในช่วงเทศกาลโอเปต โดยชาวอียิปต์จะถือรูปเคารพขององค์เทพอามุนและเทพีมุตแห่ไปตามถนน เพื่อเป็นสัญลักษณ์เทวสมรสของเทพเจ้าทั้งสององค์อีกครั้ง ที่วิหารลักซอร์องค์เทพอามุนกลายร่างเป็นองค์เทพมิน Min God เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์และการเก็บเกี่ยว
เชื่อกันว่ามีรูปสลักสฟิงซ์ประมาณ 1,350 ตัว ตั้งเรียงรายอยู่บนถนนเส้นนี้พร้อมกับวิหารน้อยสำเภาศักดิ์สิทธ์ ที่มีเครื่องเส้นไหว้สำหรับราชินีฮัตเซปซุส (ครองราชย์ระหว่าง 1479-1425 ปีก่อนคริสตกาล) ที่พระองค์ได้สร้างวิหารน้อยเหล่านี้หกแห่ง แต่ละแห่งมีหน้าที่ที่เที่ยงตรง เช่น เพื่อทำให้พายขององค์เทพอามุนเย็นลง หรือเพื่อรับความงามขององค์เทพอามุน
การก่อสร้างถนนแห่งสฟิงซ์นี้ เริ่มขึ้นในสมัยอาณาจักรใหม่และสำเร็จเสร็จสิ้นในช่วงการปกครองของราชวงศ์ที่ 30 ของฟาโรห์เนคตาเนโบ (ครองราชย์ระหว่าง 380-362 ปีก่อนคริสตกาล) ต่อมาถนนในได้รับปรับปรุงโดยพระนางคลีโอพัตราแห่งราชวงศ์ทอเลมี (ครองราชย์ระหว่าง 51-30 ปีก่อนคริสตกาล) และชาวโรมันมาใช้งานในเวลาต่อมาได้มีการค้นพบชิ้นส่วนสฟิงซ์จำนวน 850 ชิ้นที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 (ครองราชย์ระหว่าง 1390-1352 ปี ก่อนคริสตกาล) ตามแนวถนนนี้