ทัวร์เนปาล : จัตุรัสกาฐมัณฑุ เดอร์บาร์ Kathmandu Durbar square
ทัวร์เนปาล : จัตุรัสกาฐมัณฑุ เดอร์บาร์ Kathmandu Durbar square
จัตุรัสพระราชวังกาฐมัณฑุ หรือ พสันตปูร์ เดอร์บาร์ กเชตรา เป็นหนึ่งในสามจัตุรัสหลักในหุบเขากาฐมัณฑุ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 1979 ใช้ชุดมรดกโลกแห่งหุบเขากาฐมัณฑุ ตั้งอยู่ด้านหน้าของพระราชวังหลวงเก่าของราชอาณาจักรกาฐมัณฑุ มีชื่อเรียกว่า พระบรมมหาราชวังหนุมาน โฑก้า Hanuman Dhoka Palace complex โดยคำว่า เดอร์บาร์ Durbar มีความหมายว่า พระราชวัง หรือ ที่ประทับของเจ้าชาย สร้างขึ้นและเป็นที่ประทับของกษัตริย์ราชวงศ์ราฆุวังสะแห่งมัลละกับราชวงศ์ชาห์แห่งกูรข่า ที่ปกครองอาณาจักรจนถึงศตวรรษที่ 19 และพระราชวังก็ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ในเวลาต่อมา
กาฐมัณฑุ เดอร์บาร์ สแควร์ ถูกสร้างขึ้นจากทักษะเชิงช่างฝีมือและสถาปัยกรรมที่งดงามของชาวนีวะร์ พระราชวังเดิมตั้งอยู่ที่จัตุรัสฑัตตะตรยะในเมืองภักตาปูร์ และย้ายมายังจัตุรัสหลวงที่ตั้งอยู่ปัจจุบันในเวลาต่อมา แต่โชคร้ายอาคารหลายหลังรวมถึงวัดวาอารามต่างๆ ที่รายล้อมอยู่รอบลานกว้างแห่งนี้พังทลายเกือบทั้งหมดเนื่องจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อ 25 เมษายน 2015
จัตุรัสกาฐมัณฑุเดอร์บาร์ เป็นสถานที่สำคัญสำหรับพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาทั้งพุทธและฮินดู กิจกรรมของราชวงศ์ เช่น พระราชพิธีราชาภิเษก พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของกษัตริย์
จัตุรัสกาฐมัณฑุเดอร์บาร์ รายล้อมด้วยน้ำพุ รูปเคารพโบราณ สระน้ำเล็กๆ และลานต่างๆ ที่มีกว่า 10 แห่ง เช่น ลานโมฮานกาลี ลานนาซัล ลานมูล โดยจัตุรัสกลางกรุงกาฐมัณฑุแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ทางศาสนาสำหรับผู้แสวงบุญ โดยรายล้อมด้วยวัดสไตล์เจดีย์มากมาย ที่ส่วนหน้าของอาคารมีงานแกะสลักที่ประณีตพิถีพิถันโดยชาวนีวะร์ ซึ่งบางวัดมีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่ 16 ภายใต้ราชูปถัมภ์ของกษัตริย์มัลละทุกพระองค์
ในสมัยกษัตริย์มเหนทรา มัลละ ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ. 1560-1574 พระองค์ได้สร้าง วัดปศุปฏินาถ ที่เก่าแก่ที่สุดของจัตุรัสหลวงแห่งนี้ ซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีวะร์ นอกจากนี้ยังรวมถึงวัดฮินดูอย่างเช่น วัดจักรนาถ Jaganath Temple วัดโกฎิลึงเกศวร มหาเทพ Kotilingeshwor Mahadev Temple วัดมเหนทเรศวร Mahendreshwor Temple และวัดตเลชุ Taleju Temple อันงดงามซึ่งใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในกรุงกาฐมัณฑุอีกด้วย แม้ว่าพระราชวังและสิ่งก่อสร้างต่างๆ จะสืบค้นอายุย้อนไปได้ถึงศตวรรษที่ 16 แต่มีความเชื่อกันว่าน่าจะเริ่มสร้างกันตั้งแต่ศตวรรษที่ 3
ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าประตาป ซิงห์ มัลละ ทรงได้สร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในจัตุรัสเพิ่มเติม รวมทั้งศาลองค์เทพต่างๆ วัดใหม่ รวมถึงบูรณะปฏิสังขรวัดเก่าอีกหลายแห่ง เมื่อพระองค์สวรรคตในปี ค.ศ. 1674 โครงการก่อสร้างใหม่ๆ ของพระองค์ก็ได้ยุติลง
การก่อสร้างกลับมารื้อฟื้นอีกครั้งในสมัยราชวงศ์ชาห์แห่งกูรข่า เรียกว่า นอเตลล์ เดอร์บาร์ Nautalle Durbar และเรียกกันทั่วไปว่า พสันตปูร์ เดอร์บาร์ Basantapur Durbar มีความหมายว่า พระราชวังพสันตปูร์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระราชวังหลวง เป็นโครงสร้างอาคารเก้าชั้นที่มีหลังคาสี่ชั้น ลือกันว่าเป็น พระตำหนักสราญรมย์ นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างวัดต่างๆ เช่น วัดมหาเทพ วัดศิวปาราวตี วัดเมรุฆเนศ วัดภควาติ วัดสรัสวตี วัดพระกฤษณะทรงแปดเหลี่ยม วัดจักรนาถ และวัดกัล ไภราพ ซึ่งเป็นอวตารขององค์ศิวมหาเทพภาคทำลายล้าง
นอกจากนี้ยังมีวัด กุมารี บาฮัล Kumari Bahal ซึ่งเป็นวัดของชาวนีวะร์ ที่สร้างขึ้นโดยกษัตริย์ชัยประกาศ มัลละ ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์มัลละ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของกุมารี เทวี ซึ่งเป็นเด็กสาวที่ถูกเลือกผ่านกระบวนการคัดเลือกอย่างพิถีพิถัน ที่เชื่อกันว่าเป็นร่างทรงของพระแม่เทวีในศาสนาฮินดู โดยกุมารีเทวีจะถูแห่ไปรอบจัตุรัสด้วยราชรถปิดทองที่ทำขึ้นในช่วง เทศกาลอินทรยาตรา Indra Jatra และเทศกาลอื่นๆ ซึ่งกุมารี เทวีเป็นที่เคารพของผู้คนท้องถิ่น ซึ่งจะคอยเฝ้าดูแลอย่างระมัดระวังอาจเกิดกับเธอ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบางอย่างที่บอกหรือเตือนถึงโชคลาภและโชคชะตาของพวกเขา