กรุ๊ปเหมารัสเซีย : เที่ยวอันซีนที่ เยคาเตรินเบิร์ก (Yekaterinburg)
เที่ยวรัสเซีย เส้นทาง 7 เมืองรุ่งเรืองของ อดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย บนทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียน
เยกาเตรินเบิร์ก หรือ ยีกาตีรินบรูก ในภาษารัสเซีย ซึ่งมีชื่อเมืองก่อนหน้าว่า สเวีร์ดลัฟสค์ (Sverdlovsk) เป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองของแคว้น (Oblast ออบลาสท์) ตอนกลางฝั่งตะวันตกของรัสเซีย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิเซต ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำโตโบล ตั้งอยู่บนเนินริมแม่น้ำลาดไปทางทิศตะวันออกของเทือกเขาอูราล ซึ่งเป็นพรมแดนกั้นระหว่างทวีปยุโรปและเอเชีย จึงได้ชื่อว่าเมืองสองทวีป
เยกาเตรินเบิร์กก่อตั้งในปี ค.ศ. 1672 โดยศาสนิกชนรัสเซียนออร์โธดอกซ์ นิกายโอลด์ บีลีฟเวอร์ (Old Believers) ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน มีการสร้างโรงงานเหล็กครั้งแรกในปี ค.ศ. 1721 ต่อมาในปี ค.ศ. 1722 ได้มีการสร้างป้อมปราการ จนกลายเป็นเมืองตั้งถิ่นฐานใหม่ และตั้งชื่อเมืองว่า ยีกาตีรินบรูก ตามพระนามของพระจักรพรรดินี แคทเธอรีน ที่ 1 ซึ่งเป็นพระภรรยาเจ้าของพระเจ้าซาร์ ปีเตอร์ที่ 1 มหาราช
เยกาเตรินเบิร์กในยุคสหภาพโซเวียต
ช่วงหลายปีหลังการปฏิวัติรัสเซียและสงครามการเมืองในรัสเซีย อำนาจทางการเมืองในภูมิภาคอูราลได้ย้ายจากเมืองเปียร์ม (Perm) มายังเยกาเตรินเบิร์ก มีการสร้างมหาวิทยาลัยแห่งแรก คือ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐอูราล สถาบันการศึกษาอื่นๆ เช่น สถาบันโพลีเทคนิค สถาบันการแพทย์ ภายใต้คำสั่งของ วลาดิมีร์ เลนิน วิสาหกิจต่างๆ ในเมืองที่เสียหายจากสงครามได้ตกเป็นของชาติ รวมทั้งโรงงานเหล็ก โรงงานปั่นผ้าลินิน
ต่อมาเยกาเตรินเบิร์กเติบโตในฐานะศูนย์กลางอุตสาหกรรมเหล็กทั้งหมดของภูมิภาคอูราล หลังจากทางหลวงสาย “เกรท ไซบีเรียน (Great Siberian) ตัดผ่าน และทางรถไฟสาย “ทรานส์ ไซบีเรีย (Trans-Siberian) เชื่อมโยงเข้ากับเมืองนี้ในปี ค.ศ. 1878 ทำให้เมืองนี้มีความสำคัญเพิ่มขึ้น แต่แล้วเมืองเยกาเตรินเบิร์กต้องมาอื้อฉาวในฐานะ “สถานที่ประหารชีวิตพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจักรวรรดิรัสเซียพร้อมครอบครัว” ต่อมาจึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น สเวีร์ดลัฟสค์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำบอลเชวิค ยาโคฟ เอ็ม. สเวีร์ดลัฟ (Yakov M. Sverdlov) แต่ต่อมาเมืองก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น เยกาเตรินเบิร์ก ดังเดิมอีกครั้งในปี ค.ศ. 1991
ในระหว่างการปกครองของ โจเซฟ สตาลิน เมืองสเวีร์ดลัฟสค์เป็นหนึ่งในหลาย ๆ แหล่งอุตสาหกรรมที่รัฐบาลโซเวียตได้พัฒนาขึ้นให้เป็นศูนย์กลางสำคัญของอุตสาหกรรมหนัก การวิจัยและพัฒนาด้านการสงคราม ชีวภาพและเคมี โรงงานเก่าถูกสร้างขึ้นใหม่และใหญ่กว่าเดิมมาก โดยเฉพาะโรงงานที่เชี่ยวชาญด้านการสร้างเครื่องจักรและงานโลหะต่างๆ ทำให้มีประชากรภายในเมืองสเวีร์ดลัฟสค์เพิ่มขึ้นสามเท่า กลายเป็นเมืองที่เติบโตเร็วที่สุดของสหภาพโซเวียต มีการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ในรูปแบบอพาร์ตเมนต์ทรงกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูงห้าชั้น ที่มีหน้าตาคล้ายกันทั้งประเทศเรียงรายเป็นกลุ่มอาคาร ซึ่งรูปแบบสถาปัตยกรรมนี้ได้แผ่ขยายไปยังประเทศภาคีคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกด้วยเช่นกัน นอกจากนี้เมืองสเวีร์ดลัฟสค์ก็ยังมีอุตสาหกรรมเบาหลายประเภท รวมถึงการเจียรไนอัญมณีแบบดั้งเดิม และการแปรรูปอาหารที่สำคัญอีกด้วย
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมืองสเวีร์ดลัฟสค์ได้กลายเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของมณฑลทหารอูราล มีหน่วยทหารรูปแบบต่างๆ มากกว่า 500 หน่วย รวมถึงกองทัพที่ 22 และกองพลรถถังอาสาสมัครอูราล โดยโรงงานอูราลมาช (Uralmash) ได้กลายเป็นแหล่งผลิตหลักของรถหุ้มเกราะโซเวียต สถาบันเทคนิคของรัฐหลายแห่งและโรงงานต่างๆ ทั้งหมดถูกย้ายมายังเมืองสเวีร์ดลัฟสค์ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบหรือเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่สอง
ระหว่างที่มีความพยายามทำรัฐประหารในปี ค.ศ. 1991 นายบอริส เยลต์ซิน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีอยู่ในขณะนั้น ได้เลือกเมืองสเวีร์ดลัฟสค์เป็นฐานที่มั่นหรือเป็นเมืองหลวงสำรอง สำหรับประเทศสหพันธรัฐรัสเซียที่จะเกิดขึ้นใหม่ และกรุงมอสโคว์เองเป็นที่มั่นที่อันตรายเกินไปสำหรับรัฐบาลรัสเซียของเขา ต่อมานายเยลต์ซินได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างมากมาย เหตุการณ์จึงตีกลับส่งผลให้ความพยายามในการทำรัฐประหารในครั้งไม่ประสบผลสำเร็จ และนำมาสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในเวลาต่อมา และเมืองสเวีร์ดลัฟสค์ได้เปลี่ยนชื่อกลับไปเป็นเยกาเตรินเบิร์กอีกครั้งในวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1991 แต่อย่างไรก็ตามชื่อ แคว้นสเวีร์ดลัฟสค์ (Sverdlovsk Oblast) ยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน โดยมีเมืองเยกาเตรินเบิร์กเป็นศูนย์กลางการปกครอง
เยกาเตรินเบิร์กในปัจจุบัน
เมืองเยกาเตรินเบิร์กสมัยใหม่ได้กลายเป็นชุมทางรถไฟที่สำคัญ โดยมีเส้นทางรถไฟทอดยาวไปยังทุกส่วนของเทือกเขาอูราลและส่วนอื่นๆ ของรัสเซีย โดยเป็นประตูสู่ดินแดนไซบีเรียและไซบีเรียตะวันออกไกล เป็นเมืองศูนย์กลางทางวัฒนธรรมชั้นนำของเทือกเขาอูราล มีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษามายมาย เช่น สถาบันเรือนกระจก สถาบันโพลีเทคนิค เหมืองแร่ ป่าไม้ เกษตรกรรม กฎหมาย การแพทย์ การฝึกอบรมครู และสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ
ในขณะเดียวกันเมืองเยกาเตรินเบิร์ก ได้กลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญของรัสเซีย โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมหนัก โดย อูราลมาช (Uralmash) เป็นหัวหอกในการผลิตเครื่องจักรกลหนักและเป็นองค์กรใหญ่ที่สุดในเมืองเยกาเตรินเบิร์ก ครั้งหนึ่งเคยจ้างงานประมาณ 50,000 คน แม้ว่าปัจจุบันจะลดลงเหลือจำนวนไม่มากแล้วก็ตาม โดยผลิตภัณฑ์ทางวิศวกรรมที่ผลิตในเมืองเยกาเตรินเบิร์ก ได้แก่ เครื่องจักรโลหะ เคมีภัณฑ์ กังหันดีเซล และตลับลูกปืน เป็นต้น
ในช่วงหลังปี 2000 การเจริญเติบโตอย่างเข้มข้นทางการค้า ธุรกิจ และการท่องเที่ยว ทำให้เมืองเยกาเตรินเบิร์ก กลายเป็นเมืองที่มีผู้มาเยือนเป็นอันดับห้าของรัสเซีย (รองจาก มอสโคว์ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โนโวซีบีรสค์ และวลาดิวอสตอค) เป็นเมืองประชุมและการเจรจาสำคัญระดับโลก เช่น การพบปะพูดคุยระหว่างประธานธิบดี วลาดีมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย กับ นายกรัฐมนตรีเกร์ฮาร์ด ชรุยดาร์ (Gerhard Schröder) แห่งเยอรมนี ในวันที่ 15-17 มิถุนายน ค.ศ. 2009 การประชุม SCO summit และ BRICS summit ที่จัดขึ้นที่รัสเซีย โดยเมืองเยกาเตรินเบิร์กเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน และการจัดมหกรรมฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพ เมืองเยกาเตรินเบิร์กได้เป็นเจ้าภาพจำนวน 4 แมตช์ รวมถึงการเป็นเจ้าภาพงานเทศกาลกีฬามหาวิทยาลัยนานาชาติที่จัดครั้งแรกในปี 2023 ด้วย
สถานที่ท่องเที่ยวภายในเมืองเยคาเตรินเบิร์ก
โบสถ์นักบุญทั้งหลาย (Church of All Saints)
โบสถ์นักบุญทั้งหลาย หรือ เชิร์ช ออน บลัด (Church on Blood) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “คริสตจักรบนพระโลหิตเพื่อเป็นเกียรติแด่นักบุญทั้งหลายที่รุ่งโรจน์ในดินแดนชาวรัสเซีย (the Church on Blood in Honor of All Saints Resplendent in the Russian Land)” ซึ่งตั้งทับบน “บ้านอิปาเตียฟ (Ipatiev House)” สถานที่พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ซึ่งเป็นจักพรรดิองค์สุดท้ายของจักรวรรดิรัสเซียที่สิ้นพระชนม์ จากการถูกพวกบอลเชวิกปลงพระชนม์หมู่พระองค์และพระ
จักรพรรดินี พร้อมด้วยพระโอรสและพระธิดาทุกพระองค์ ระหว่างสงครามกลางเมืองรัสเซีย ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงจากระบอกกษัตริย์กลายเป็นระบบคอมมิวนิสต์ โดยโบสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อถวายเกียรติ และรำลึกถึงสมาชิกราชวงศ์โรมานอฟ ที่สิ้นพระชนม์ทุกพระองค์ในฐานะ “เหล่านักบุญโรมานอฟ (Romanov Sainthood)” ได้แก่ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 พระจักรพรรดินีซาริน่า อเล็กซานดร้า แกรนด์ดัชเชสโอลก้า แกรนด์ดัชเชสตาเตียน่า แกรนด์ดัชเชสมาเรีย แกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซีย และซาร์เลวิช (มกุฏราชกุมาร) อเล็กเซ่
หนึ่งปีก่อนปี ค.ศ. 1991 ที่สหภาพโซเวียตภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน จะล่มสลายอย่างสมบูรณ์ และนายบอริส เยลต์ซินก็ได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหพันธรัฐรัสเซีย มีโครงการสร้าง “โบสถ์น้อยแห่งความทรงจำ” ของนิกายรัสเซียออร์โธดอกซ์ หลังจากอดีตพระเจ้าซาร์องค์สุดท้ายและครอบครัวได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญ และได้รับการอนุมัติสร้างในปี ค.ศ. 2000 และการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2003 โดยสร้างทับบริเวณที่เกิดการฆาตกรรม และชั้นใต้ดินของบ้านอิปาเตียฟเดิม ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างโบสถ์ปัจจุบัน
โบสถ์นักบุญทั้งหลาย มีรูปแบบสถาปัตยกรรมสไตล์นีโอ-ไบแซนไทน์ โดดเด่นด้วยโดมประธานสีทอง ล้อมด้วยหอระฆังโดมสีทองสี่มุม พร้อมด้วย แอปส์ (Apes) หรือผนังโบสถ์ทรงโค้งมีหลังคาครึ่งวงกลมสีทองประกบอยู่เช่นเดียวกัน ปัจจุบันมีสถานะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้มีกิจกรรมในวันพิเศษเท่านั้น โดยวันรำลึกถึงพระเจ้าซาร์และครอบครัว จะจัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนกรกฎาคม รวมถึงสัปดาห์ อีสเตอร์ (Easter วันระลึกถึงการคืนพระชนม์ชีพของพระเยซู)
ย้อนรอยอดีตก่อนมาเป็นโบสถ์นักบุญทั้งหลาย
บ้านอิปาเตียฟ: สถานที่คุมขังและสังหารหมู่สมาชิกราชวงศ์โรมานอฟ (Ipatiev House: Place of imprisonment and massacre of members of the Romanov Royal members)
บ้านอิปาเตียฟ เดิมเป็นคฤหาสน์ของพ่อค้าในเมืองเยกาเตรินเบิร์ก สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1880 ซึ่งใช้เป็นที่คุมขังสมาชิกครอบครัวของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 หลังจากถูกจับเป็นเชลยและควบคุมตัวเป็นนักโทษในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซีย โดยช่วงแรกพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และครอบครัวถูกควบคุมตัวไว้ที่ พระราชวังอเล็กซานเดอร์ ใน ซาร์สกอย เซโล่ นอกกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ต่อมานายอเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี้ ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลเฉพาะกาล ได้ย้ายพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และครอบครัวไปยังคฤหาสน์ของผู้ว่าเก่าในเมืองโตโบลสค์ ซึ่งห่างจากเมืองเยคาเตรินเบิร์กไปทางตะวันออกราว 600 กม.
ต่อมาได้ย้ายมายังบ้านอิปาเตียฟในเมืองเยกาเตรินเบิร์ก และคุมขังเป็นเวลา 78 วัน ก่อนที่จะถูกปลงพระชนม์หมู่ภายในบ้านหลังนี้ ในช่วงค่ำของวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1918 เนื่องจากฝ่ายบอลเชวิคเกรงกลัวกองทัพเชคโกสโลวัก ซึ่งร่วมรบกับกองทัพรัสเซียขาว (ฝ่ายเจ้า) ที่กำลังมุ่งหน้ามายังเยคาเตรินเบิร์ก จะพยามยามปลดปล่อยตัวพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และครอบครัว ซึ่งผู้นำบอลเชวิคท้องถิ่นได้ปรึกษากับผู้นำในกรุงมอสโคว์ โดยตัดสินใจปลงพระชนม์ทั้งครอบครัว และทำลายศพทั้งหมดด้วยกรด เพื่อไม่ให้กลายเป็นวัตถุแห่งความศรัทธาในภายภาคหน้า ซึ่งกองทัพเชคโกสโลวักสามารถยึดเมืองได้ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ต่อมา
หลังการปฏิวัติบอลเชวิคสำเร็จ ชื่อของบ้านหลังนี้ถูกตั้งให้ล้อไปกับชื่อของ อารามอิปาเตียฟ (Ipatiev Monastery) ในเมืองคอสโตรม่า ซึ่งเป็นจุดที่ราชวงศ์โรมานอฟได้ขึ้นครองราชบัลลังก์ กล่าวคือ อิปาเตียฟ เป็นทั้งจุดเริ่มต้นและจุดจบของราชวงศ์โรมานอฟ
ในปี ค.ศ. 1974 คฤหาสน์หลังนี้ได้รับการยกฐานะเป็น “อนุสรณ์สถานแห่งชาติ” แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1977 บ้านอิปาเตียฟหลังนี้ได้ถูกรื้อถอนทำลายลง ตามคำสั่งของ โปลิตบูโร เป็นหน่วยงานของรัฐบาลสหภาพโซเวียต ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบอริส เยลต์ซิน เพื่อต้องการลบสัญลักษณ์ของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชออกไป และเป็นการฉลองครอบรบ 60 ปีของการปฏิวัติรัสเซีย ก่อนที่สหภาพโซเวียตจะล่มสลายลงในอีก 14 ปีต่อมา
การถอนทำลายบ้านอิปาเตียฟ (the Demolition of Ipatiev House)
ภาพถ่ายของบ้านอิปาเตียฟที่มีรั้วล้อมรอบในช่วงต้นปี ค.ศ. 1923 ถูกเผยแพร่ในสื่อของสหภาพโซเวียต ภายใต้ชื่อ “วังสุดท้ายของซาร์องค์สุดท้าย (the last palace of the last Tsar)” และต่อมาในปี ค.ศ. 1927 บ้านหลังนี้ได้กลายเป็นสาขาของพิพิธภัณฑ์การปฎิวัติอูราล จากนั้นก็ได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนเกษตรกรรมก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์ต่อต้านศาสนาในปี ค.ศ. 1938 ซึ่งมักจะมีกลุ่มทัวร์ขนาดใหญ่ มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โดยจะมีธรรมเนียมการยืนต่อหน้ากำแพงห้องใต้ดิน ที่ถูกใช้เป็นห้องประหารพระเจ้านิโคลัสที่ 2 และครอบครัว ที่เต็มไปด้วยความเสียหายจากกระสุนปืนที่กระหน่ำยิงเข้าไป
ในปี ค.ศ. 1974 ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการให้เป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์และการปฎิวัติ อย่างไรก็ตามสถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นสถานที่แสวงบุญอย่างต่อเนื่อง สำหรับชาวคริสต์นิกายรัสเซียนออร์โธดอกซ์ และผู้ที่ต้องการรำลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และครอบครัว แต่แล้วในปี ค.ศ. 1977 คณะกรรมาธิการโปลิตบูโร ภายใต้รัฐบาลของนายบอริส เยลต์ซิน ประกาศว่า “บ้านหลังนี้ไม่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เพียงพอ” จึงทำการสั่งรื้อทิ้งในเดือนกันยายน ค.ศ. 1977
ต่อมานายบอริส เยลต์ซิน ก็ได้เขียนบันทึกความทรงจำของเขา ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1990 ว่า “ไม่ช้าก็เร็ว เราจะต้องอับอายกับผลงานความป่าเถื่อนชิ้นนี้” ซึ่งเมืองเยกาเตรินเบิร์กหรือเมืองสเวีร์ดลัฟสค์เดิมเป็นบ้านเกิดของนายบอริส เยลต์ซินด้วยเช่นกัน แม้บ้านอิปาเตียฟจะไม่เหลือซากแล้วก็ตาม แต่ห้องใต้ดินยังคงอยู่ จึงมีเหล่าสาธุชนผู้แสวงบุญยังคงมาสถานที่รกร้างนี้อย่างลับๆ และมักจะมาในตอนกลางคืน พร้อมกับทิ้งร่องรอยแห่งความทรงจำไว้บนพื้นที่ว่าง
อารามกานิน่า ยาม่า (Ganina Yama)
อารามกานิน่า ยาม่า หนึ่งในสถานที่ที่มีผู้เข้าเยี่ยมชมมากที่สุดในเมืองเยกาเตรินเบิร์ก สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงการจากไปทั้งครอบครัวของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งราชวงศ์โรมานอฟ ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจักรวรรดิรัสเซีย ปัจจุบันอารามแห่งนี้ได้กลายเป็น “อารามพระเจ้าซาร์แห่งผู้ถือกิเลสอันศักดิ์สิทธิ์ของจักรพรรดิ (the Tsar’s Monastery Of The Holy Imperial Passion-Bearers)” ซึ่งหลายปีก่อนเป็นสถานที่ฝังพระศพของพระเจ้าซาร์นิโคลัส ที่ 2 และครอบครัว
ซึ่งแต่เดิมเป็นเหมืองร้างที่ชื่อ “กานิน่า ยาม่า (Ganina Yama)” แปลว่า”บ่อของกานย่า” โดยนำมาจากชื่อเล่นของผู้รับสัมปทานเหมืองในยุคตื่นทองแห่งเทือกเขาอูราล ห่างจากเมืองเยกาเตรินเบิร์กประมาณ 15 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่แสวงบุคที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของรัสเซียรุกรานของอาณาจักรข่านแห่งคาซาน ในขณะเดียวกันก็มีส่วนสนับสนุนอย่างมากในการก่อสร้างรัฐรัสเซีย
มีเรื่องเล่าว่าในคืนระหว่างวันที่ 16 และ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1918 หลังจากได้ปลงพระชนม์พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 พร้อมครอบครัวในห้องใต้ดินของบ้านอิปาเตียฟแล้ว ทหารกลุ่มกบฏบอลเชวิคเหล่านั้นได้นำร่างไร้วิญญาณทั้งหมดมาทิ้งไว้ที่หลุมลึกขนาด 9 ฟุต (แม้ว่าภายหลังจะมีการพิสูจน์ทราบว่า ได้มีการเคลื่อนย้ายซากพระศพที่ถูกเผาไหม้ทำลายไปที่อื่นต่อ เพื่อป้องกันการถูกค้นพบก็ตาม) ทำให้พื้นที่บริเวณนี้กลายเป็นอนุสรณ์สถานที่ผู้คนใช้รำลึกถึงการจากไปของพระเจ้าซาร์นิโคลัส ที่ 2 และครอบครัวอย่างถาวรสืบต่อมา
ผู้คนที่ยังรู้สึกจงรักภักดีต่อระบอบกษัตริย์ในยุคคอมมิวนิสต์ ยังคงหลั่งไหลมาสักการะดวงวิญญาณที่จากไปอย่างลับๆ ไม่ขาดสาย แม้รัฐบาลบอลเชวิคจะออกกฎเหล็กห้ามไม่ให้เอ่ยถึงพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ผู้ล่วงลับก็ตาม จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2001 ได้มีการสร้างโบสถ์ไม้สนหลังใหญ่ที่กลมกลืนไปกับผืนป่าโดยรอบ และรายล้อมด้วยโบสถ์ไม้หลังเล็กอีก 7 โบสถ์ เพื่อระลึกถึงสมาชิกครอบครัวของพระเจ้าซาร์นิโคลัส ที่ 2
ทุกปีในคืนวันที่ 16 ย่างเข้า 17 กรกฎาคม จะมีชาวรัสเซียนับแสนร่วมเดินขบวนรำลึกวาระครบรอบเหตุการณ์กบฏบอลเชวิคสังหารพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และสมาชิกครอบครัว โดยเริ่มเดินขบวนจากโบสถ์นักบุญทั้งหลายหรือเชิร์ช ออน บลัด ซึ่งเป็นสถานที่ปลงพระชนม์ มาสิ้นสุดที่โบสถ์กานิน่า ยาม่า ซึ่งเป็นจุดที่ร่างของพระบรมวงศานุวงศ์ถูกนำมาฝังไว้ ซึ่งมีระยะห่าง 21 กม. โดยมีสมเด็จพระสังฆราชประมุขแห่งศาสนจักรนิกายรัสเซียนออร์โธด็อกซ์ ทรงเป็นประธานในพิธี
บ้านเซวาสตยานอฟ (Sevastyanov’s House)
เป็นอาคารที่ชื่อว่า “หรูหราที่สุดในเมืองเยกาเตรินเบิร์ก” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1866 และเป็นที่รู้จักกันดีในสมัยสหภาพโซเวียตในฐานะอาคาร สภาสหภาพแรงงาน หลังจากที่มีการเปลี่ยนเจ้าของมาหลายคน ในที่สุดบ้านหลังนี้ก็ตกเป็นของนายนิโคไลย์ เซวาสตยานอฟ วิศวกรเหมืองแร่ ซึ่งได้ว่าจ้างนายอเล็กซานเดอร์ ปาดูเชฟ ซึ่งสถาปนิกเข้ามาปรับปรุงต่อเติม จนได้คฤหาสน์สไตล์คลาสสิกผสมผสานกับสถาปัตยกรรมนีโอ-โกธิค บาโรก และมัวร์เข้าด้วยกัน
ตามตำนานเล่าว่าบ้านเซวาสตยานอฟถูกรื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่ ซึ่งทำให้เขาขาดสภาพคล่องทางการเงินและถูกบังคับขายบ้านให้กับกระทรวงยุติธรรม ทำให้เขาจำเป็นต้องไปอาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็ก ๆ ระหว่างทาง และเขาทำได้แค่เพียงชื่นชมทรัพย์สินที่เข้าสร้างเท่านั้น ซึ่งตามข้อมูลอย่างเป็นทางการ นายนิโคไลย์ เซวาสตยานอฟ ถูกส่งไปยังนครเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก เพื่อเลื่อนตำแหน่งซึ่งทำให้เขาจำเป็นต้องขายบ้านของเขา และอาคารหลังนี้ได้รับการปรับปรุงขึ้นใหม่ก่อนการประชุมสุดยอดระดับโลก 2 ครั้ง ได้แก่ การประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) และการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ BRICS ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเยกาเตรินเบิร์กในปี ค.ศ. 2009 และอาคารหลังนี้ใช้เป็นที่รับรองประธานาธิบดีรัสเซียในระหว่างการประชุมสุดยอดดังกล่าว
อนุสาวรีย์เขตแดนทวีปยุโรปและเอเชีย (The Monument of the Border of Europe and Asia)
ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์หลายประการ เช่น พืชและสัตว์ที่มีถิ่นอาศัยอยู่บนเนินเขาทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกของเทือกเขาอูราลมีความแตกต่างกัน และในทางภูมิศาสตร์ภาคพื้นทวีปยูเรเซียได้ยึดเอาเทือกเขาอูราลเป็นเขตแดนระหว่างทวีปยุโรปที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกบรรจบกับทวีปเอเชียที่อยู่ฝั่งตะวันออก ต่อมาได้มีความพยายามจะทำแลนด์มาร์กเพื่อเป็นจุดท่องเที่ยว โดยมีการสร้างอนุสาวรีย์เขตแดนทวีปยุโรปและเอเชีย ซึ่งปรากฎว่ามีการตั้งเสาโอเบลิสก์แสดงจุดบรรจบดังกล่าวมากกว่า 20 แห่ง
การติดตั้งเสาครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ทำจากไม้มีการจารึกว่า ยุโรป และ เอเชีย แต่ถูกขโมยไป ต่อมาในปี ค.ศ. 1837 เสาไม้ได้ถูกแทนที่ด้วยหินอ่อน ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “สปริง ยุโรป-เอเชีย (Spring Europe-Asia) เนื่องจากใกล้ๆ บริเวณดังกล่าวมีบ่อน้ำผุดอยู่ โดยจะมีตราสัญลักษณ์ของราชสำนักรัสเซียอยู่บนสุดของอนุสาวรีย์ ตั้งอยู่บริเวณริมถนนสายเยกาเตรินเบิร์ก แต่เสาโอเบลิสก์ขนาดใหญ่และโดดเด่นที่สุดเรียกว่า ยุโรป เอเชีย โอเบลิสก์ (Europe Asia Obelisk) ตั้งอยู่ริมถนนมอสคอฟสกี้ ตรักท์ (Moskovskiy Trakt) ขณะที่ “อนุสรณ์สถาน “ชายแดนยุโรป-เอเชีย (Europe-Asia Border)” ซึ่งมีลักษณะเป็นโครงสแตนเลสปลายยอดเรียวแหลม ตั้งอยู่ห่างจาก อนุสาวรีย์ สปริง ยุโรป-เอเชีย มาทางทิศตะวันออกประมาณ 26 กม. บนทางหลวงหมายเลย 22 ซึ่งมีจะมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมพร้อมยืนดื่มแชมเปญคร่อมเส้นแบ่งทวีปที่สร้างขึ้น